Sign In
ข่าว ก.ล.ต.

ก.ล.ต. เผยผลงานวิจัยพฤติกรรมผู้ลงทุนด้วยทฤษฎีการเงินเชิงพฤติกรรม



วันพุธที่ 19 พฤศจิกายน 2557 | ฉบับที่ 169 / 2557



SEC Working Papers Forum ครั้งที่ 5 เผยแพร่งานวิจัยโดย ก.ล.ต. ในหัวข้อ ?Behavioral Finance ใครได้ใครเสีย และการกำกับดูแล? เผยผลการศึกษาพฤติกรรมผู้ลงทุนด้วยทฤษฎีทางการเงินเชิงพฤติกรรม ระบุว่าเหตุผลไม่ใช่สิ่งเดียวที่มีผลต่อการตัดสินใจ ขณะที่ผู้กำกับดูแลต้องออกเกณฑ์คุ้มครองผู้ลงทุนและให้มีทางเลือกในการลงทุนที่เหมาะสม

ดร. วรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า งานสัมมนา SEC Working Papers Forum ครั้งที่ 5โดยทีมวิจัยของ ก.ล.ต. นำเสนอผลงานวิจัยภายใต้ทฤษฎีการเงินเชิงพฤติกรรม ซึ่งศึกษาแนวคิดและพฤติกรรมของผู้ลงทุนที่ภาคธุรกิจและตัวกลางในตลาดทุนนำมาใช้เพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมของผู้ลงทุน ชี้ให้เห็นว่า เหตุผลไม่ใช่สิ่งเดียวที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุน แต่มีปัจจัยและข้อจำกัดหลายด้าน อาทิ อารมณ์ ความเชื่อ และอคติ ทำให้ผู้ลงทุนเลือกทางออกที่ง่ายและสะดวกที่สุดในการตัดสินใจ บ่อยครั้งที่ตัดสินใจเลือกไปโดยไม่มีเหตุผลและหลายครั้งที่ผู้ลงทุนตัดสินใจบนอคติ 3 ด้าน ได้แก่  อคติที่เกิดจากอารมณ์และความชอบ ให้ความสำคัญกับปัจจุบันมากกว่าอนาคต ด้านที่ 2 คือ อคติที่เกิดจากความเชื่อ ซึ่งจะอาศัยจำนวนตัวอย่างน้อยแล้วนำไปสรุปผล ประเมินความเสี่ยงต่ำเกินไป และด้านสุดท้ายคือ อคติที่เกิดจากการตัดสินใจโดยอาศัยความคุ้นเคย เช่น การลงทุนในบริษัทที่ตนเองทำงานอยู่

ก.ล.ต. ในฐานะผู้กำกับดูแลผู้ประกอบการที่ติดต่อกับผู้ลงทุนโดยตรง จึงมีแนวคิดในการออกกฎเกณฑ์การกำกับดูแลโดยพิจารณาปัจจัยทางด้านการเงินเชิงพฤติกรรมให้มากขึ้น โดยเพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลผู้แนะนำการลงทุนและผู้วางแผนการลงทุนซึ่งเป็นผู้ที่ติดต่อกับลูกค้าโดยตรง ให้เป็นผู้มีความรู้ความสามารถและได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. ในขณะที่ผู้ประกอบการต้องมีกระบวนการศึกษาข้อมูลเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ให้คำแนะนำในสังกัดมีความรู้ความเข้าใจในผลิตภัณฑ์เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังมีเกณฑ์ควบคุมการโฆษณาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เพื่อไม่ให้เบี่ยงเบนความสนใจหรือเชิญชวนลูกค้าจนหลงเชื่อและเกิดความเข้าใจผิดในวัตถุประสงค์การลงทุน

การประเมินความเหมาะสมในการลงทุน จะช่วยให้ผู้ลงทุนทราบว่าการลงทุนนั้นเหมาะกับตนหรือไม่ ผู้แนะนำการลงทุนจะเตือนและแนะนำให้ผู้ลงทุนรู้จักการจัดสรรการลงทุนพร้อมกับนำเสนอบริการที่เหมาะสมตามวัตถุประสงค์ในการลงทุนแก่ลูกค้า ซึ่ง ก.ล.ต. จัดให้ผู้วางแผนการลงทุนเป็นบุคลากรในตลาดทุนที่มีหน้าที่ให้บริการดังกล่าวกับผู้ลงทุนแต่ละรายด้วย