ก.ล.ต. เผยผลงานวิจัยจุฬาฯ ระบุผู้ลงทุนให้ความสำคัญกับคุณภาพและการเปิดเผยข้อมูลบริษัทจดทะเบียน
วันอังคารที่ 3 มีนาคม 2558 | ฉบับที่ 24 / 2558
ก.ล.ต. สานต่องานเผยแพร่ผลงานวิจัยจัด SEC Working Papers Forum ครั้งที่ 1/2558 เผยผลงานวิจัยของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อ "การเปิดเผยข้อมูล M&A เร็วช้า มีผล อย่างไร และ คุณภาพของข้อมูลทางบัญชีดีขึ้นหรือไม่ภายหลังจากการใช้ IFRS ในจีนและอินเดีย" ระบุว่าคุณภาพการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนทั้งที่เป็นตัวเลขและที่ไม่ใช่ตัวเลขทางการเงินมีผลต่อการตัดสินใจและค่าเสียโอกาสในการเลือกลงทุนของผู้ลงทุน
ดร. วรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า งานสัมมนา SEC Working Papers Forum ครั้งที่1/2558 เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ตามบันทึกความร่วมมือระหว่าง ก.ล.ต. กับสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำ 4 แห่ง ร่วมกันเผยแพร่ผลงานวิจัยเพื่อไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาตลาดทุน โดยครั้งที่ 1 ของปีนี้ ทีมผู้วิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอผลงานวิจัย แสดงให้เห็นว่า ผู้ลงทุนให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูล และคาดหวังการรายงานข้อมูลที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับที่ ก.ล.ต. ให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูล โดยให้บริษัทจดทะเบียนต้องเปิดเผยข้อมูลในแบบ 56-1 โดยการรายงานข้อมูลที่ดีไม่จำเป็นต้องยาวหรือมีรายละเอียดมากเสมอไป แต่ต้องมีข้อมูลสำคัญครบถ้วนและถูกต้อง และเปิดเผยตามเวลาที่กำหนดเพื่อให้ผู้ลงทุนรับทราบความเสี่ยงในการลงทุน
ผศ.ดร. มนพล เอกโยคยะ ผู้วิจัยจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงผลงานวิจัยเรื่อง "คุณภาพของโครงการลงทุนและจังหวะเวลาของการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะชน" ว่าปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนใช้การควบรวมกิจการเป็นช่องทางในการขยายกิจการอย่างแพร่หลาย ดังนั้น การเปิดเผยข้อมูลและคุณภาพข้อมูล จึงมีความสำคัญต่อผู้ถือหุ้นของบริษัท จากการศึกษาพฤติกรรมการเปิดเผยข้อมูลการตัดสินใจควบรวมกิจการสู่สาธารณชนซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงิน (non-financial information) ของบริษัทจดทะเบียนในประเทศอังกฤษพบว่า บริษัทมีความระมัดระวังในการเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงิน ให้เผยแพร่ออกไปให้ช้าที่สุด แตกต่างจากการเปิดเผยข้อมูลทางการเงิน (financial statements) ที่พบในงานวิจัยที่ผ่านมา ว่าจะต้องเปิดข้อมูลทางการเงินที่มีกำไรให้เร็วที่สุด และเปิดเผยข่าวร้ายให้ช้าที่สุด นอกจากนี้ ยังพบว่าหากบริษัทเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงินหรือแผนการตัดสินใจควบรวมกิจการเร็วเกินไป ราคาหุ้นของบริษัทจะไม่ได้ปรับขึ้นมากตามที่คาดการณ์ สะท้อนให้เห็นถึงต้นทุนที่มากับการรั่วไหลของข้อมูล เช่น เกิดข่าวลือ เกิดการแข่งขันสูง สูญเสียความได้เปรียบที่จะเป็นผู้ซื้อรายแรก หรือแม้กระทั่งการทำลายแผนการควบรวมในที่สุด
ผศ. ดร. ธัญลักษณ์ วิจิตรสาระวงศ์ ผู้วิจัยจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยงานวิจัยเรื่อง "ประโยชน์ของตัวเลขทางบัญชี: เรื่องราวของสองประเทศ (จีนและอินเดีย)" ศึกษาคุณภาพหรือประโยชน์ของตัวเลขทางบัญชีของบริษัทในประเทศจีนและอินเดียในช่วงก่อนและหลังการใช้มาตรฐานการรายงานการเงินระหว่างประเทศ (International Financial Reporting Standards หรือ IFRS) พบว่า ในอินเดีย ตัวเลขทางบัญชีหลังจากการใช้ IFRS สามารถพยากรณ์กำไรและกระแสเงินสดในอนาคตได้ดีขึ้น รวมทั้งสามารถใช้ประโยชน์เพื่อคาดการณ์ผลตอบแทนหุ้นในอนาคตในเชิงบวกได้ดีกว่า ขณะที่ยังไม่มีมาตรฐานทางบัญชีดังกล่าว ตรงกันข้ามกับผลการวิจัยในจีน ที่ระบบบัญชีไม่มีความสัมพันธ์ต่อการคาดการณ์ผลตอบแทนใด ๆ ทั้งนี้ อาจเป็นผลมาจากการที่อินเดียมีระบบการบัญชี และการบังคับใช้ รวมทั้งการปกป้องผู้ลงทุนที่เข้มแข็งกว่า
________________________________
หมายเหตุ: การเผยแพร่งานวิจัยเป็นการดำเนินงานตามบันทึกความร่วมมือระหว่าง ก.ล.ต. กับสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำ 4 แห่ง ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัย แลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างภาควิชาการกับผู้บริหารในตลาดทุน และนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาตลาดทุน
เอกสารแนบ