ตลาดทุนในเอเชียเห็นความสำคัญ พร้อมนำหลักการกำกับดูแลกิจการฉบับปรับปรุงใหม่โดย G20/OECD มาช่วยยกระดับบทบาทและเสริมสร้างความน่าเชื่อถือ
วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม 2558 | ฉบับที่ 119 / 2558
องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) เปิดตัว ?หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance) ฉบับปรับปรุงใหม่? ที่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกลุ่มประเทศ G20 เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีฉบับปรับปรุงใหม่แนะนำเรื่องเกี่ยวกับการเสริมสร้างการกำกับดูแลกิจการที่ดีแก่ภาคธุรกิจกับผู้กำหนดนโยบายระดับประเทศ โดยเน้นในเรื่องสิทธิของผู้ถือหุ้น ค่าตอบแทนของกรรมการและผู้บริหาร การเปิดเผยข้อมูลทางการเงิน บทบาทของผู้ลงทุนสถาบัน หลักปฏิบัติของกรรมการและผู้บริหารของบริษัท และบทบาทของตลาดหลักทรัพย์ การกำกับดูแลกิจการที่ดีจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเกื้อหนุนการระดมทุนและการลงทุน ซึ่งจะมีผลต่อการสร้างความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจประเทศในระยะยาวด้วย
นายแมทส์ ไอแซ็คซัน หัวหน้าฝ่ายกิจการองค์กรของ OECD กล่าวในการบรรยายหัวข้อ หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ฉบับปรับปรุงใหม่ ในงานประชุมเสวนา Asian Corporate Governance Roundtable ที่จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2558 ว่า การประยุกต์ใช้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี จะช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และเปิดโอกาสการลงทุนในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้น ในโลกปัจจุบันที่ธุรกิจและการเงินเชื่อมโยงกันมากขึ้น ทุกฝ่ายจำเป็นต้องร่วมกันสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดความเชื่อมั่น และความรับผิดชอบของบริษัทธุรกิจต่างๆ
?หลักการฉบับใหม่นี้ได้คำนึงการนำไปใช้ปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทในเอเชียที่มีความเจริญเติบโตสูง และจำเป็นต้องแข่งขันเพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ" นายแมทส์ กล่าว
นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) กล่าวว่า ?ก.ล.ต. รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ OECD เลือกการประชุม Asian Roundtable ที่จัดขึ้นครั้งนี้ที่กรุงเทพฯ สำหรับการเปิดตัว ?หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีฉบับปรับปรุงใหม่? ในภูมิภาคเอเชีย ที่ผ่านมาหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนในเอเชียล้วนให้ความสำคัญกับการนำหลักการของ OECD ไปใช้ในการเสริมสร้างการกำกับดูแลกิจการที่ดีมาโดยตลอด สำหรับตลาดทุนไทย ก.ล.ต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความมุ่งมั่นร่วมกันในการจะพัฒนาสภาพแวดล้อมเพื่อเอื้อให้เกิดการกำกับดูแลกิจการที่ดีมากยิ่งขึ้น และเชื่อมั่นว่าหลักการฉบับปรับปรุงใหม่นี้จะเป็นกลไกสำคัญให้เห็นผลที่เป็นรูปธรรม นำมาซึ่งความเชื่อมั่นและความสามารถในการสร้างคุณค่าให้แก่บริษัทจดทะเบียนและตลาดทุนโดยรวมอย่างยั่งยืน?
OECD จัดทำ ?หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี? ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2542 โดยหลักการนี้เป็นที่ยอมรับและเป็นมาตรฐานในการประเมินการกำกับดูแลกิจการในระดับสากลสำหรับภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลก โดยคณะกรรมการดูแลเสถียรภาพทางการเงิน (Financial Stability Board: FSB) ใช้เป็นหนึ่งในมาตรฐานสำคัญสำหรับการประเมินความแข็งแกร่งระบบภาคการเงิน
ในช่วงสองปีที่ผ่านมา OECD ได้ทบทวนหลักการกำกับดูแลกิจการ โดยดำเนินการร่วมกับกลุ่มประเทศสมาชิก G20 และเปิดรับฟังความคิดเห็นกับสาธารณชนตลอดจนองค์กรกลางที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล อาทิ คณะกรรมการบาเซิล (Basel Committee) คณะกรรมการดูแลเสถียรภาพทางการเงิน และธนาคารโลก จนบรรลุข้อตกลงในการประชุม G20 ที่ผ่านมา ณ กรุงอังการา ประเทศตุรกี สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานของ OECD ด้านการกำกับดูแลกิจการในเอเชีย สามารถดูได้ที่http://www.oecd.org/daf/ca/corporategovernanceinasia.htm หรือติดต่อ OECD Media Office ที่ +33 45 24 97 00
-------------
1/ OECD จัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1961 มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศสมาชิก และเป็นแหล่งรวมข้อมูลวิจัยต่างๆ ให้ประเทศสมาชิกสามารถปรึกษา ค้นคว้า รวมทั้งขอข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวปฏิบัติอันเป็นเลิศใน ด้านต่างๆ ปัจจุบันมีสมาชิก 34 ประเทศ อ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.oecd.org
2/ อ่านรายละเอียดที่ http://www.oecd.org/corporate/principles-corporate-governance.htm
3/ ประเทศกลุ่ม G20 ประกอบด้วย อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล อังกฤษ แคนาดา จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย อินโดนีเซีย อิตาลี ญี่ปุ่น เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ ตุรกี สหรัฐ และสหภาพยุโรป อ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://g20.org/
เอกสารแนบ