Sign In
ข่าว ก.ล.ต.

หน่วยงานกำกับดูแลการสอบบัญชีกลุ่มประเทศอาเซียนร่วมกับธนาคารโลกหารือแนวทางยกระดับคุณภาพงานสอบบัญชีของตลาดทุนในภูมิภาค



วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม 2559 | ฉบับที่ 76 / 2559



สิงคโปร์ ? วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม 2559 - หน่วยงานกำกับดูแลการสอบบัญชีกลุ่มประเทศอาเซียนหารือกับธนาคารโลก เพื่อร่วมกันยกระดับคุณภาพงานสอบบัญชีของตลาดทุนในภูมิภาค ในการประชุมประจำปี ASEAN Audit Regulators Group (AARG) ครั้งที่ 6 วันที่ 26 สิงหาคม 2559 ณ ประเทศสิงคโปร์

Accounting and Corporate Regulatory Authority (ACRA) เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมครั้งนี้ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 100 ราย ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานกำกับดูแลการสอบบัญชีจาก 8 ประเทศในอาเซียน รวมทั้ง ประเทศจีนและฮ่องกง นอกจากนี้ ยังมีผู้แทนจากสำนักสอบบัญชีชั้นนำระดับภูมิภาคและระดับโลกซึ่งเป็นคณะทำงาน Global Public Policy Committee (GPPC) เข้าร่วมประชุมด้วย  

สมาชิก AARG ประกอบด้วย  ACRA สิงคโปร์  Audit Oversight Board มาเลเซีย  Finance Professions Supervisory Center (PPPK) อินโดนีเซีย และ ก.ล.ต. ไทย ได้หารือร่วมกันหลายหัวข้อ อาทิ ความร่วมมือระหว่าง AARG กับธนาคารโลก ในการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการและการให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคเพื่อเพิ่มศักยภาพหน่วยงานกำกับดูแลการสอบบัญชีของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยการริเริ่มความร่วมมือกับธนาคารโลกครั้งนี้ เป็นความพยายามอย่างต่อเนื่องของ AARG ที่จะยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลและคุณภาพงานสอบบัญชีของแต่ละประเทศในภูมิภาคอาเซียนให้ทัดเทียมกัน ในการนี้ธนาคารโลกอยู่ระหว่างการหาเงินทุนสนับสนุนจากผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบรายงานทางการเงิน

Mr. Kenneth Yap, Chief Executive, ACRA กล่าวถึงความร่วมมือกับธนาคารโลกในครั้งนี้ว่า ?การเพิ่มศักยภาพหน่วยงานกำกับดูแลการสอบบัญชีของประเทศสมาชิกอาเซียนจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ตลาดทุนอาเซียน การสนับสนุนจากธนาคารโลกดังกล่าวสอดคล้องกับแนวทางการยกระดับคุณภาพงานสอบบัญชีให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วภูมิอาเซียนที่ AARG ร่วมกันดำเนินการมาโดยตลอด?

Mr. Jarett Decker หัวหน้าศูนย์ปฏิรูปการรายงานทางการเงินแห่งธนาคารโลก กล่าวว่า ?ที่ผ่านมา AARG ได้ดำเนินงานเพื่อสนับสนุนการแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ความรู้ในระดับภูมิภาคเกี่ยวกับเรื่องที่เป็นความท้าทายในการกำกับดูแลคุณภาพงานสอบบัญชี ซึ่งธนาคารโลกยินดีสนับสนุนให้มีการยกระดับคุณภาพงานสอบบัญชีดังกล่าว ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพรายงานทางการเงินทั่วภูมิภาคอาเซียน?

ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งขึ้นในปี 2554 เป็นต้นมา AARG มีเป้าหมายสำคัญในการยกระดับคุณภาพงานสอบบัญชีในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ การประสานงานกับสำนักงานสอบบัญชีเพื่อร่วมกันระบุประเด็นข้อบกพร่องที่พบในงานสอบบัญชีและหาแนวทางพัฒนาคุณภาพการสอบบัญชีอย่างต่อเนื่อง การประชุมครั้งนี้มีการพูดคุยกันในประเด็นที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับแนวทางในการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลการสอบบัญชีและสำนักงานสอบบัญชี เพื่อที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลให้สอดรับกับทิศทางและพัฒนาการของงานสอบบัญชีทั่วโลก เช่น การที่สำนักงานสอบบัญชีใช้ระบบการวิเคราะห์ข้อมูล (data analytics) ในงานสอบบัญชี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของงานสอบบัญชี การสนับสนุนให้คณะกรรมการตรวจสอบ (audit committees) มีการใช้ตัวชี้วัดคุณภาพงานสอบบัญชี (audit quality indicators ?AQIs") ในการคัดเลือกผู้สอบบัญชีสำหรับบริษัทจดทะเบียน รวมถึงการสนับสนุนให้ผู้สอบบัญชีนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้งบการเงินเมื่อมาตรฐานการสอบบัญชีในเรื่องรายงานของผู้สอบบัญชีแบบใหม่มีผลบังคับใช้ต้นปี 2560

Mr. Eugene Wong, กรรมการ AOB แห่งมาเลเซีย กล่าวว่า ?รายงานของผู้สอบบัญชีแบบใหม่เป็นเครื่องมือสนับสนุนให้มีการนำเสนอข้อมูลที่มีคุณภาพในตลาดทุนอาเซียน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความโปร่งใสและทำให้รายงานของผู้สอบบัญชีเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจของผู้ใช้งบการเงิน ส่งผลให้งานสอบบัญชีมีคุณค่ายิ่งขึ้น และผู้สอบบัญชีมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการร่วมกับ AARG ยกระดับการสื่อสารข้อมูลที่เป็นประโยชน์และเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจไปยังผู้ลงทุนในตลาดทุนอาเซียน ?

Mr. Asih Ariyanto, หัวหน้าศูนย์ตรวจสอบวิชาชีพบัญชีแห่ง Indonesia?s Finance Professions Supervisory Center (PPPK) อินโดนีเซีย กล่าวว่า ?AARG จะติดตามพัฒนาการของงานสอบบัญชีอย่างต่อเนื่อง และร่วมมือกันสื่อสารความคาดหวังของหน่วยงานกำกับดูแลงานสอบบัญชีไปยังผู้สอบบัญชี PPPK อยู่ระหว่างการนำ AQIs มาใช้ โดยได้มีการหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแล้ว ซึ่งเราเชื่อมั่นว่า การริเริ่มแนวทางต่าง ๆ ในครั้งนี้จะมีส่วนสำคัญยิ่ง ในการขับเคลื่อนคุณภาพงานสอบบัญชีสำหรับสำนักงานสอบบัญชีทั่วอินโดนีเซีย?

นายธวัชชัย เกียรติกวานกุล ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับบัญชีตลาดทุน ก.ล.ต. กล่าวว่า ?การประชุม AARG เป็นโอกาสดีที่จะนำประเด็นสำคัญเกี่ยวกับงานสอบบัญชีมาหารือกันกับผู้นำของสำนักงานสอบบัญชีระดับโลกและระดับภูมิภาคในคณะทำงาน GPPC ที่ประกอบด้วยเครือข่ายสำนักงานสอบบัญชีชั้นนำของโลก เพื่อทำความเข้าใจและหาข้อตกลงร่วมกัน ปัจจุบันสภาพแวดล้อมในการรายงานทางการเงินมีความซับซ้อนมากขึ้น AARG จึงจำเป็นต้องทำงานในเชิงรุกและประสานงานอย่างใกล้ชิดกับผู้สอบบัญชีเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพของงานสอบบัญชีและความน่าเชื่อถือของรายงานทางการเงินในภูมิภาคอาเซียน?

___________________

1คณะทำงาน The Global Public Policy Committee (GPPC) ประกอบด้วยตัวแทนจากสำนักงานสอบบัญชีขนาดใหญ่ที่มีเครือข่ายในหลายประเทศทั่วโลก 6 แห่ง คือ BDO, Deloitte, Ernst & Young, Grant Thornton, KPMG, และ PricewaterhouseCoopers
หมายเหตุ:

1. ASEAN Audit Regulators Group (AARG) คือ กลุ่มหน่วยงานกำกับดูแลการสอบบัญชีของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2554 ภายใต้ความร่วมมือของ Audit Oversight Board มาเลเซีย  Accounting and Corporate Regulatory Authority สิงคโปร์ และ ก.ล.ต. ไทย เพื่อวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลการสอบบัญชี ในการยกระดับคุณภาพงานสอบบัญชีของประเทศในอาเซียน การประชุม AARG ประจำปี เป็นช่องทางในการสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลงานสอบบัญชีและสำนักงานสอบบัญชีในภูมิภาค ซึ่งเป็นแนวทางที่สนับสนุนวัตถุประสงค์ของ International Forum of Independent Audit Regulators (IFIAR) ในอันที่จะยกระดับมาตรฐานคุณภาพของงานสอบบัญชีทั่วโลก

2. Accounting and Corporate Regulatory Authority (ACRA)  เป็นหน่วยงานกำกับดูแลของสิงคโปร์ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลภาคธุรกิจและผู้สอบบัญชี  นอกจากนี้ ACRA ยังมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาในภาคธุรกิจ และวิชาชีพสอบบัญชี  พันธกิจของ ACRA คือ การเสริมสร้างสภาพแวดล้อมในการกำกับดูแลภาคธุรกิจและผู้สอบบัญชีให้เกิดความน่าเชื่อถือ  ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2558 มีหน่วยธุรกิจทั้งสิ้น 473,404 ราย และผู้สอบบัญชีทั้งสิ้น 1,053 ราย ที่ขึ้นทะเบียนกับ ACRA

3. Audit Oversight Board (AOB) จัดตั้งขึ้นโดยองค์กรกำกับดูแลตลาดทุนของมาเลเซียในปี 2553 เพื่อกำกับดูแลผู้สอบบัญชีของกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (Public Interest Entities) คุ้มครองประโยชน์ของผู้ลงทุน และเสริมสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและความน่าเชื่อถือของรายงานทางการเงินของกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2558 มีผู้สอบบัญชีทั้งสิ้น 306 ราย และสำนักงานสอบบัญชี 51 แห่ง ที่ขึ้นทะเบียนกับ AOB  ทั้งนี้ AOB ยังให้ความเห็นชอบผู้สอบบัญชีต่างประเทศอีก 10 ราย จาก 5 สำนักงานสอบบัญชีต่างประเทศ

4. Indonesia?s Finance Professions Supervisory Center (PPPK) คือ หน่วยงานพิเศษภายใต้การกำกับดูแลของ Secretariat General of Ministry of Finance of The Republik of Indonesia ตามกฎหมายที่ 5/2011 เกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีสาธารณะ  PPPK เป็นหน่วยงานกำกับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี ออกใบอนุญาตให้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีสาธารณะ และใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานบัญชี รวมถึงการกำกับดูแล การตรวจสอบ และการดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้านบัญชี ข้อมูลเพิ่มเติม สามารถตรวจสอบได้ที่ www.pppk.kemenkeu.go.id