ก.ล.ต. เตือนผู้ถือหุ้น CWT ศึกษาข้อมูลการทำรายการได้มาซึ่งโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทย่อย
วันอังคารที่ 25 เมษายน 2560 | ฉบับที่ 25 / 2560
ก.ล.ต. ขอให้ผู้ถือหุ้นบริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (CWT) ศึกษาข้อมูลและไปใช้สิทธิออกเสียงในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 27 เมษายน 2560 ในวาระพิจารณาอนุมัติโครงการลงทุนในโรงไฟฟ้าชีวมวล มูลค่า 959 ล้านบาท ผ่านบริษัท โคกเจริญ กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (KE) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ CWT
สืบเนื่องจากที่ผ่านมา CWT ได้เปิดเผยข้อมูลผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า คณะกรรมการบริษัทได้มีมติให้ CWT เข้าลงทุนในหุ้นของ KE โดยกำหนดเงื่อนไขชำระเงินเบื้องต้น 50 ล้านบาท และจะชำระส่วนที่เหลืออีก 20 ล้านบาท เมื่อผู้ขายดำเนินการตามสัญญาแล้วเสร็จ อย่างไรก็ดี? CWT กลับชำระส่วนที่เหลืออีก 20 ล้านบาทโดยไม่รอให้มีการดำเนินการตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้? นอกจากนี้ CWT ยังซื้อที่ดินใหม่มูลค่า 28.36 ล้านบาท เนื่องจาก ภายหลังการลงทุนเพิ่งพบว่าที่ดินที่จะเช่าเดิมไม่เหมาะสม และการยื่นเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับการขออนุญาตผลิตไฟฟ้าที่ผู้ขายทำไว้เดิมยังไม่ถูกต้องครบถ้วน?
ก.ล.ต. มีข้อสงสัยว่า การตัดสินใจลงทุนใน KE กระทำด้วยความระมัดระวังและเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของ CWT และผู้ถือหุ้นหรือไม่? จึงมีหนังสือให้กรรมการ CWT ชี้แจงเป็นรายบุคคล และกรรมการ CWT ได้ชี้แจงผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ไปเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา ซึ่ง ก.ล.ต. อยู่ระหว่างพิจารณาว่าคำชี้แจงดังกล่าวสมเหตุสมผลหรือไม่
ต่อมาคณะกรรมการ CWT ยังมีมติที่จะลงทุนเพิ่มเติมอีก โดยให้ KE ลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล มูลค่ารวม 959 ล้านบาท และจะเสนอขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นที่จะจัดขึ้นในวันที่ 27 เมษายน 2560 นี้??
สำหรับการลงทุนเพิ่มเติมในครั้งนี้ ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ (IFA) ได้พิจารณาความเหมาะสมของการทำธุรกรรมมีความเห็นว่า ข้อตกลงทางธุรกิจของ KE ที่เกี่ยวข้องในโครงการผลิตไฟฟ้าดังกล่าวบางเรื่องไม่สมเหตุสมผล ได้แก่ ข้อตกลงการซื้อขายเชื้อเพลิงเปลือกไม้ยูคาลิปตัสที่ KE ทำกับผู้จำหน่ายรายที่จะสั่งซื้อจำนวนมากที่สุด คือ บริษัท แก้วลำดวน กรุ๊ป จำกัด (KLG) เป็นข้อตกลงที่ไม่เหมาะสม? เนื่องจากมีการกำหนดปริมาณวัตถุดิบที่ต้องส่งมอบมากกว่าความต้องการใช้จริงในโรงไฟฟ้า และเกินกว่ากำลังการผลิตในปัจจุบันของ KLG อย่างมาก ในขณะที่ไม่มีการกำหนดค่าปรับที่ KE จะเรียกร้องได้หาก KLG ไม่สามารถส่งมอบวัตถุดิบได้ตามข้อตกลง? นอกจากนี้ IFA ยังเปิดเผยว่า การเพิ่มกำลังการผลิตเปลือกไม้ยูคาลิปตัสของ KLG จะเกิดจากปริมาณการสั่งซื้อไม้สับยูคาลิปตัสจากบริษัท ชัยวัฒนา เอ็กพอร์ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ CWT ซึ่งมี KLG ร่วมถือหุ้นร้อยละ 20
ก.ล.ต. มีข้อสงสัยอย่างมากว่า การลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลของ KE อาจทำให้ผู้ถือหุ้นเสียประโยชน์ จึงให้กรรมการ CWT ชี้แจงเพิ่มเติมเป็นรายบุคคล และจะเปิดเผยผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อไป?
สำหรับการประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 27 เมษายน 2560 นี้ ก.ล.ต. ขอให้ผู้ถือหุ้นศึกษาข้อมูลโดยละเอียดและใช้สิทธิของผู้ถือหุ้นในการรักษาประโยชน์ของตนเอง พร้อมกับใช้สิทธิในการซักถามกรรมการและผู้บริหาร CWT? ถึงข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้มีข้อมูลครบถ้วนประกอบการตัดสินใจเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของตนเอง
เอกสารแนบ