ก.ล.ต. สั่งให้บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) (EARTH) นำส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องกับหนี้สินจำนวนกว่า 26,000 ล้านบาท ต่อ ก.ล.ต. ภายใน 5 วันทำการ และจัดให้มีผู้สอบบัญชีตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) เกี่ยวกับที่มา ความมีอยู่จริง และสถานะของมูลหนี้ดังกล่าว ซึ่งเป็นเหตุให้ EARTH ยื่นขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยให้เปิดเผยผลการตรวจสอบผ่านระบบของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายใน 30 วัน
ตามที่ EARTH ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2560 โดย EARTH แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า มีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์ เนื่องจากคู่ค้าได้ยื่นฟ้องEARTH ต่อศาลที่มีอำนาจเป็นยอดหนี้รวมทั้งสิ้นกว่า 26,000 ล้านบาท ทำให้ EARTH มีหนี้สินรวม 47,480 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากที่ปรากฏในงบการเงินไตรมาส 1 ปี 2560 ซึ่งมีหนี้สิน 21,480 ล้านบาท และมีสินทรัพย์ 31,829 ล้านบาท และต่อมาในวันที่ 7 สิงหาคม 2560 EARTH ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า หนี้สินจำนวนดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากการจัดส่งงบการเงินไตรมาส 1 ปี 2560
ก.ล.ต. เห็นว่า จำนวนหนี้สินที่เพิ่มขึ้นมีจำนวนสูงถึง 1.21 เท่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของ EARTH เป็นอย่างมาก ประกอบกับที่มา ความมีอยู่จริง และสถานะของหนี้สินดังกล่าวยังคลุมเครือไม่ชัดเจน และอาจมีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้นในวงกว้างหรือต่อการตัดสินใจลงทุนของผู้ลงทุนได้
ก.ล.ต. จึงอาศัยอำนาจตามกฎหมายสั่งให้ EARTH นำส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องกับหนี้สินที่เพิ่มขึ้นภายใน 5 วันทำการ รวมทั้ง ก.ล.ต. อาจเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลหรือนำส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประสานงานกับหน่วยงานต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความชัดเจนกับการพิจารณาเรื่องดังกล่าว
นอกจากนี้ ก.ล.ต. สั่งให้ EARTH จัดทำ special audit เพิ่มเติมจากการสั่งการก่อนหน้านี้ เกี่ยวกับที่มา ความมีอยู่จริง และสถานะของหนี้สินข้างต้น เพื่อให้สามารถยืนยันได้ถึงยอดหนี้จำนวนดังกล่าว โดยให้ผู้สอบบัญชีที่สังกัดสำนักงานสอบบัญชีขนาดใหญ่แห่งใดแห่งหนึ่ง (big 4) เป็นผู้ดำเนินการ และส่งผลการตรวจสอบต่อ ก.ล.ต. พร้อมทั้งเปิดเผยข้อมูลผ่านระบบสารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายใน 30 วัน
ทั้งนี้ การไม่ปฏิบัติตามการสั่งการของ ก.ล.ต. หรือการไม่เปิดเผยข้อมูลที่ตรงต่อความเป็นจริงจะเป็นผลให้กรรมการและผู้บริหารของ EARTH อาจถูกดำเนินการตามกฎหมายซึ่งมีทั้งโทษอาญาและมาตรการลงโทษทางแพ่ง