Sign In
ข่าว ก.ล.ต.

ก.ล.ต. ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับอดีตกรรมการและผู้บริหาร IFEC กรณีไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ



วันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน 2561 | ฉบับที่ 160 / 2561


ก.ล.ต. เปิดเผยการดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับ {ก} อดีตกรรมการและผู้บริหารของบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (IFEC) กรณีไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต จนเป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหาย

ก.ล.ต. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ถือหุ้นของ IFEC จึงตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า ในช่วงเดือนพฤษภาคม - กันยายน 2561 {ก} ขณะกระทำผิดเป็นกรรมการและผู้บริหารของ IFEC มีพฤติกรรมขัดขวางไม่ให้จัดประชุมคณะกรรมการและผู้ถือหุ้นเพื่อเลือกตั้งกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างตามมาตรา 83 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 ทำให้ IFEC ไม่สามารถกลับมาบริหารกิจการได้ตามปกติ โดยมีรายละเอียดดังนี้

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2561 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้รับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการของ IFEC เหลือ 3 คน ได้แก่ {ก} {ข} และ {ค}  ซึ่งต่อมาในวันที่ 18 พฤษภาคม 2561 {ข} ได้เรียกประชุมคณะกรรมการในวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 โดยแจ้งว่าเป็นกรณีรีบด่วนเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย อย่างไรก็ดี {ก} ได้แจ้งยกเลิกและไม่เข้าร่วมการประชุมในวันดังกล่าว โดยไม่มีเหตุอันควร และในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของฝ่ายจัดการ {ก} ไม่อำนวยความสะดวกให้มีการประชุมคณะกรรมการ โดยปิดล็อคห้องที่ใช้สำหรับการประชุมคณะกรรมการและไม่ให้ฝ่ายจัดการของ IFEC เข้าร่วมประชุม  กรรมการที่เหลือ 2 ราย ของ IFEC จึงต้องไปใช้ห้องประชุมของบริษัทย่อยที่อยู่ภายในอาคารเดียวกันแทน ซึ่งการประชุมคณะกรรมการครั้งนั้น มีมติให้ IFEC เตรียมการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อเลือกตั้งกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างทั้งหมด โดยเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นรายเดียวหรือหลายรายที่ถือหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 เสนอรายชื่อผู้ที่มีความเหมาะสมเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการของ IFEC และสั่งให้ {ก} เปิดเผยมติคณะกรรมการผ่านระบบสารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่ {ก} ไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว และไม่ให้ความร่วมมือในการประชุมเตรียมการในวันที่ 19 มิถุนายน 2561 ด้วย

ต่อมายังปรากฏข้อเท็จจริงว่า ฝ่ายจัดการของ IFEC ไม่ยอมรับเอกสารการเสนอชื่อผู้ที่มีความเหมาะสมเพื่อเข้ารับการเลือกตั้งเป็นกรรมการจากผู้มีสิทธิเสนอรายชื่อ ตลอดจนโต้แย้งเงื่อนไขการเสนอรายชื่อผู้ที่มีความเหมาะสมเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการ ทำให้เกิดความล่าช้าในการพิจารณารายชื่อผู้ที่จะเสนอให้ผู้ถือหุ้นเลือกในการประชุมผู้ถือหุ้นที่จะจัดขึ้น  ซึ่งหาก {ก} ให้ความร่วมมือกับกรรมการทั้ง 2 ราย ย่อมจะไม่เกิดความล่าช้าดังกล่าว

นอกจากนี้ การที่ {ก} โต้แย้งและไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลแพ่งที่เพิกถอนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี 2560 ที่แต่งตั้ง {ฆ} เป็นกรรมการของ IFEC และคำสั่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการ ({ฆ} {ง} และ {จ}) รวมทั้งคำสั่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่รับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการของ IFEC เหลือ 3 คน  เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับ IFEC และผู้ถือหุ้น

การกระทำของ {ก} ข้างต้น ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ IFEC กำลังประสบอยู่ เช่น ปัญหาหนี้สิน ปัญหาการส่งงบการเงิน ปัญหาการถูกเพิกถอนจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน และปัญหาการแต่งตั้งผู้สอบบัญชี ได้ทันกับสถานการณ์ที่มีความเร่งด่วน  จึงเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต จนเป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหาย เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 89/7 และมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 281/2 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซี่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559

คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้ ก.ล.ต. นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาบังคับใช้กับ {ก} โดยกำหนดให้ชำระเงินค่าปรับทางแพ่ง จำนวน 750,000 บาท กำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลา 10 ปี และให้ชดใช้ค่าใช้จ่ายเนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดแก่ ก.ล.ต. จำนวน 110,042 บาท รวมเป็นเงิน 860,042 บาท

ทั้งนี้ การกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทหลักทรัพย์ในกรณีนี้หาก {ก} ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่ง จะมีผลนับตั้งแต่วันที่ลงนามในบันทึกการยินยอม ซึ่งจะนับระยะเวลาซ้อนกับกรณีที่ ก.ล.ต. เคยสั่งห้าม {ก} เป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์กรณีอาศัยข้อมูลภายในขายหุ้น IFEC เป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2561* 

ในกรณีที่ {ก} ไม่ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องเป็นคดีต่อศาลแพ่งเพื่อให้ได้รับโทษในอัตราสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด ประกอบด้วย การขอให้ชำระเงินค่าปรับทางแพ่ง การห้ามซื้อขายหลักทรัพย์หรือเข้าผูกพันตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า การกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ และการให้ชดใช้ค่าใช้จ่ายเนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดแก่ ก.ล.ต. ด้วย

________________________

*ข่าว ก.ล.ต. ฉบับที่ 102/2561  เผยแพร่วันที่ 4 กันยายน 2561