นางสาวรื่นวดี
สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต. จัดเสวนาวันนี้เป็น
“เวทีวิชาการ” ที่อยากให้ประชาชนได้รับทราบว่า ความเป็นมาของ “ลิบรา” เป็นอย่างไร
มีส่วนใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายในประเทศไทย
และเป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองจากผู้ปฏิบัติ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในวงการสินทรัพย์ดิจิทัลต่อไป
“ก.ล.ต.
จะเป็นหน่วยงานที่เปิดรับความคิดเห็นและเสริมสร้างองค์ความรู้ให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
โดยเป็นตัวกลางสร้างเวทีวิชาการในประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง และพร้อมสนับสนุนการพัฒนา
การนำนวัตกรรม เทคโนโลยี มาใช้ในกระบวนการตลาดทุน ขณะที่ ก.ล.ต.
เองจะติดตามความคืบหน้าด้านต่าง ๆ และเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลง” เลขาธิการ
ก.ล.ต. กล่าว
สำหรับผู้ร่วมเสวนาครั้งนี้
ประกอบด้วย ดร.ภูมิ ภูมิรัตน ที่ปรึกษาสำนักงาน ก.ล.ต. ดร.ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย นักกฎหมายกฤษฎีกา
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ดร. สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์ นิติกรชำนาญการ
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์
และผู้บริหารสายงานดิจิทัล แบงก์กิ้ง และนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา นายจิรายุส
ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ร่วมก่อตั้งและกรุ๊ปซีอีโอ บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป
โฮลดิ้งส์ และนางสาวพราว ลิ่มพงศ์พันธุ์ Chief Strategy Officer บริษัท Zipmex Asia โดยมีนางสาวอาจารีย์
ศุภพิโรจน์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมเทคโนโลยีทางการเงิน ก.ล.ต.
เป็นผู้ดำเนินรายการ
ทั้งนี้
จากการสัมมนาสรุปสาระในประเด็นสำคัญดังนี้ “ลิบรา” ถือเป็นความท้าทายของโลก และอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้มีการใช้คริปโทเคอร์เรนซีแพร่หลายยิ่งขึ้น
ซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องติดตามความคืบหน้าของลิบราและหารือกันอย่างใกล้ชิด
เพื่อประเมินผลกระทบควบคู่กับการกำกับดูแลที่เหมาะสม ขณะที่เอกชนมองว่า “ลิบรา”
จะอยู่นานหรือไม่ เป็นเรื่องที่ไม่มีใครทราบแน่ชัด แต่โซเชียลมีเดียและคริปโทเคอร์เรนซีจะคงอยู่อีกนาน
ภาพรวมของลิบรา เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2562 เฟซบุ๊ก
และพันธมิตรผู้ร่วมก่อตั้ง (founding members) ที่เป็นบริษัทชั้นนำของโลกรวม
28 ราย เช่น วีซ่า มาสเตอร์การ์ด เพย์พาล อีเบย์ และอูเบอร์ ได้เปิดตัวคริปโทเคอร์เรนซีชื่อ
“Libra” (ลิบรา) ที่จะเริ่มนำมาใช้ในปี 2563 เพื่อให้เป็นเงินดิจิทัลที่ใช้ได้อย่างแพร่หลายทั่วโลกที่เข้าถึงง่าย
รวดเร็ว และต้นทุนต่ำ โดยมีลักษณะเป็นสเตเบิลคอยน์ (stable coin) ที่มีมูลค่าตามสินทรัพย์หนุนหลัง ต่างจากคริปโทเคอร์เรนซีอย่างบิทคอยน์ รวมทั้งมีความผันผวนน้อยกว่า
นอกจากนี้ เฟซบุ๊กและพันธมิตรได้จัดตั้งสมาคมลิบราขึ้นในประเทศสวิตเซอร์แลนด์
มีลักษณะเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร เพื่อขับเคลื่อนและดูแลประเด็นต่าง ๆ
เกี่ยวกับลิบรา เช่น ระบบบล็อกเชน และการบริหารจัดการทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง โดยก่อนเปิดบริการจริง
เฟซบุ๊กตั้งใจจะหาพันธมิตรผู้ร่วมก่อตั้งประมาณ 100 ราย มาร่วมลงทุนอย่างน้อยรายละ
10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยการออกและเสนอขาย Libra
Investment Token (ซึ่งไม่ใช่เหรียญเดียวกันลิบรา คริปโทเคอร์เรนซีที่จะออกมาเป็นกลไกเพื่อการชำระเงิน)
รวมถึงเฟซบุ๊กจะจัดตั้ง บริษัทชื่อ Calibra เพื่อเป็นผู้ให้บริการ
wallet สำหรับผู้ที่จะใช้ลิบราด้วย
ด้านผลกระทบของลิบรา –
โอกาสและความท้าทาย เนื่องจากมีผู้ใช้บริการเฟซบุ๊กกว่า
2 พันล้านคนทั่วโลก จึงน่าจะมีผลกระทบในวงกว้าง
โดยเฉพาะต่อการโอนเงินข้ามประเทศระหว่างรายย่อย ซึ่งจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สามารถโอนเงินได้ทันทีเหมือนการส่งสติ๊กเกอร์ในไลน์แอปพลิเคชัน
ขณะที่ภาคการเงินการธนาคารจะได้รับผลกระทบโดยตรง
จึงต้องปรับตัวและหารูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อรองรับ
เพราะอาจจะสูญเสียธุรกิจการโอนเงิน อีคอมเมิร์ซจะกลายเป็นโซเชียลคอมเมิร์ซ
ที่ทำธุรกรรมผ่านโซเชียลมีเดีย และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก็จะเข้าถึงอีคอมเมิร์ซระดับโลกได้ง่ายขึ้น
รวมทั้งโซเชียลแบงก์กิ้งจะมาแทนที่โมบายแบงก์กิ้ง นอกจากนี้
อาจมีผู้เล่นรายอื่นเข้ามาแข่งขันกับลิบรา เช่น อาลีบาบา กูเกิล เทนเซ็นต์
และอเมซอน
ผลกระทบต่อภาครัฐ ภาครัฐอาจไม่สามารถเก็บข้อมูลเพื่อนำไปกำหนดนโยบายด้านการเงินและการคลังได้
เนื่องจากการทำธุรกรรมหรือกิจกรรมต่าง ๆ
อาจไม่มีความจำเป็นต้องผ่านผู้ประกอบการหรือตัวกลางที่ภาครัฐกำกับดูแลอีกต่อไป อย่างไรก็ดี
ภาครัฐไม่ควรปิดกั้นหรือหยุดยั้งนวัตกรรม
แต่ควรต้องศึกษาและเรียนรู้อย่างใกล้ชิด เพื่อหาทางบริหารจัดการความเสี่ยงให้ดีที่สุด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงเชิงระบบ (systemic risk) รวมทั้งเพื่อให้สามารถวางนโยบายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างเหมาะสม
มีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย
ด้านบริบททางกฎหมายและการกำกับดูแล
ลิบราเป็นความท้าทายของหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลกซึ่งมีท่าทีที่ค่อนข้างระมัดระวัง แม้จะเปิดใจแต่ยังไม่เปิดรับโดยไร้การกำกับดูแล
สำหรับประเทศไทย
การกำกับดูแลลิบราโดยใช้กฎหมายในภาคการเงินที่มีอยู่อาจเป็นไปได้ยาก
และต้องอาศัยการพิจารณาเพิ่มเติมว่า ลิบราเป็นเงินหรือไม่ ผู้ให้บริการลิบรา หรือ authorized reseller เป็นใครได้บ้าง
เข้าข่ายการกำกับดูแลภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่ อาทิ กฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจสถาบันการเงิน
การควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน หรือการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) และอาจมีความจำเป็นต้องแก้ไข
หรือออกกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อรองรับการกำกับดูแล
ในขณะที่ด้านภาษีมีความจำเป็นต้องมีกระบวนการคิดใหม่ หากจะกำกับดูแล
ความท้าทายอยู่ที่การเก็บภาษีจากอีคอมเมิร์ซที่ย้ายไปขายสินค้าและบริการบนเฟซบุ๊ก
โดยใช้ลิบราเป็นสื่อกลางในการซื้อขายทั้งหมด ซึ่งอาจทำให้กรมสรรพากรไม่ได้รับข้อมูลสำหรับการกำกับดูแล
สำหรับการกำกับดูแลภายใต้
พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561
แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.) การออกและเสนอขาย Libra Investment
Token (ไม่ใช่ลิบราที่เป็นคริปโทเคอร์เรนซี) ซึ่งหากจะเสนอขายในประเทศไทยจะต้องมาขออนุญาต
อย่างไรก็ดี
กรณีดังกล่าวมีความเป็นไปได้น้อยมาก เนื่องจากผู้ที่จะสามารถลงทุนใน Libra
Investment Token ได้ต้องเป็นสมาชิกของสมาคมลิบรา ซึ่งกำหนดคุณสมบัติของบริษัทที่จะเข้าร่วมไว้สูงมากและไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปลงทุนใน Libra Investment Token และ 2.) การขออนุญาตประกอบธุรกิจตัวกลาง (ศูนย์ซื้อขาย นายหน้า
หรือผู้ค้า) ที่แสดงตนว่าจะให้บริการรับซื้อขายแลกเปลี่ยนลิบราในไทย
การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
ภาครัฐควรเข้ามามีบทบาทในการกำกับดูแลเพื่อป้องกันภัยคุกคามต่อความเป็นส่วนตัว
และให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อให้เกิดความตระหนักในเรื่องดังกล่าว สำหรับประเทศไทยซึ่งมีกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลใช้บังคับแล้วนั้น
ก่อนที่ภาคธุรกิจจะสามารถนำข้อมูลไปใช้ได้ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ใช้บริการก่อน
มิเช่นนั้นจะมีความผิดตามกฎหมาย
ความเสี่ยงและข้อควรระวังสำหรับประชาชน
หากมีผู้ฉวยโอกาสแอบอ้างหรือชักชวนให้ไปลงทุนในโครงการลิบรามีความเป็นไปได้สูงมากว่าเป็นการหลอกลวง
เนื่องจากประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึง Libra
Investment Token ได้ ส่วนลิบราที่เป็นคริปโทเคอร์เรนซีก็ยังไม่เปิดให้บริการจริงในปัจจุบัน
_________________________________________