นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า
ประเทศไทยได้เข้ารับการประเมิน FSAP แบบสมัครใจเป็นครั้งที่ 2 ในปี 2561 – 2562 ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาภาคการเงินของไทยให้มีมาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยภาคตลาดทุนถือเป็นกลไกสำคัญช่วยขับเคลื่อนระบบการเงินของประเทศ จึงได้เข้าร่วมโครงการ FSAP เพื่อประเมินประสิทธิผลของภาคตลาดทุน ซึ่งประกอบด้วย 2 เรื่องที่สำคัญ คือ การกำกับดูแลตลาดทุน ประเมินเทียบกับมาตรฐานสากลของ ก.ล.ต. โลก
(IOSCO Principles) จำนวน 37 ข้อ และโครงสร้างพื้นฐานของระบบชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ ประเมินเทียบกับมาตรฐานสากล Principles for Financial Market Infrastructure (PFMI)
สำหรับการประเมินตาม IOSCO Principles นั้น ตลาดทุนไทยเป็นประเทศแรก ๆ ที่ได้รับการประเมินตามมาตรฐานใหม่ ซึ่งได้ถูกพัฒนาเพื่อให้หน่วยงานกำกับดูแลด้านตลาดทุนสามารถจัดการได้เท่าทันกับความท้าทาย และความเสี่ยงใหม่ ๆ โดยประเมินทั้งการทำหน้าที่ของ ก.ล.ต. อาทิ ความโปร่งใส ความเป็นอิสระ กระบวนการออกกฎเกณฑ์ ทรัพยากร และประเมินการกำกับดูแลผู้ร่วมตลาด ตั้งแต่บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ รวมไปถึงบริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ผู้สอบบัญชี CRA เป็นต้น โดยผลประเมินได้คะแนนในระดับดีและดีมาก จำนวน 35 จาก 37 ข้อ สะท้อนให้เห็นว่า การกำกับดูแลตลาดทุนไทยได้มาตรฐานสากล ทัดเทียมกับประเทศชั้นนำของโลก สำหรับผลประเมินตาม Principles for Financial Market Infrastructure ก.ล.ต. ได้รับคะแนนเต็มจากการทำหน้าที่กำกับดูแลทุกด้าน ส่วนผลประเมินการทำหน้าที่โอนหลักทรัพย์และเป็นศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ของ บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) (TSD) ได้รับคะแนนดีและดีมาก จำนวน 17 จาก 20 ข้อ
จากผลประเมิน 2 ด้านที่สำคัญในตลาดทุน แสดงถึงความสำเร็จและพัฒนาการที่ก้าวหน้าของตลาดทุนไทยได้มาตรฐานเทียบเท่าสากล เป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ลงทุนทั่วโลก และเพิ่มทางเลือกในการดำเนินธุรกิจและการลงทุน รวมทั้งแสดงถึงศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทย ซึ่งจะนำไปสู่การเป็นตลาดทุนที่เติบโตอย่างมีศักยภาพและยั่งยืน โดยจะเป็นกลไกสำคัญต่อระบบการเงินและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป