ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างหลักการแก้ไขหลักเกณฑ์การกำกับดูแลตลาดตราสารหนี้ โดยปรับปรุงให้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจที่เพียงพอสำหรับผู้ลงทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลให้เป็นระบบมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงให้กับผู้ลงทุน และคำนึงถึงการพัฒนาตลาดตราสารหนี้เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งช่องทางระดมทุนที่สำคัญ
ในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ
เนื่องจากตลาดตราสารหนี้มีการเติบโตและมีสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงจากเดิมอย่างมาก ประกอบกับมีความอ่อนไหวในบางจุด อาทิ โครงสร้างตลาดตราสารเสี่ยง ซึ่งเป็นตราสารที่ไม่ได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือหรืออยู่ต่ำกว่าระดับน่าลงทุน (investment grade) ที่ส่วนใหญ่เป็นการเสนอขายแก่ผู้ลงทุนรายบุคคล รวมถึงผู้สูงอายุ และมากกว่าครึ่งขายผ่านช่องทางการเสนอขายวงจำกัดที่ไม่เกิน 10 ราย (PP-10) ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้ข้อบังคับต้องเปิดเผยข้อมูลเชิงสาธารณะ นอกจากนี้ ข้อมูลที่ใช้สำหรับการตัดสินใจของผู้ลงทุนยังไม่ครบถ้วนชัดเจน และกระบวนการจัดการเมื่อเกิดเหตุการณ์ผิดนัดชำระหนี้ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ทำให้การดำเนินการที่เกี่ยวกับผู้ถือหุ้นกู้ล่าช้า
ก.ล.ต. จึงมีแนวทางที่ปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลตลาดตราสารหนี้ดังนี้
- ปรับประเภทผู้ลงทุนที่จะเข้าถึงช่องทางการเสนอขายวง PP-10 ซึ่งเป็นช่องทางขายตราสารเสี่ยงสู่ผู้ลงทุน โดยจะให้เสนอขายต่อเฉพาะกรรมการ ผู้บริหารและผู้ลงทุนสถาบัน
- เพิ่มคุณสมบัติผู้ขออนุญาตเสนอขายตราสารหนี้ต่อผู้ลงทุนรายใหญ่ โดยผู้อนุญาตต้องไม่อยู่ระหว่างผิดนัดชำระหนี้ของตราสารหนี้หรือเงินกู้ยืม ซึ่งสอดคล้องกับกรณีเสนอขายต่อผู้ลงทุนทั่วไป
- ปรับให้การเสนอขายแบบ Medium Term Note (MTNs) ทำได้เฉพาะตราสารที่ได้อันดับความน่าเชื่อถือระดับน่าลงทุนเท่านั้น เนื่องจากการขายแบบดังกล่าว ผู้ออกจะยื่นเอกสารเพิ่มเติมเพียงบางส่วน
- ปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลโดยจะกำหนดให้มีการอธิบายความเสี่ยงฐานะการเงิน และคำเตือนที่ตรงประเด็น
- เพิ่มรอบการส่งรายงานทางการเงินให้ถี่ขึ้นและเร็วขึ้น เพื่อให้ผู้ลงทุนเข้าถึงข้อมูลที่เป็นปัจจุบันขึ้น
- เพิ่มคุณภาพข้อมูลสำหรับประกอบการตัดสินใจ โดยปรับหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปสำคัญ (factsheet) ให้สั้น กระชับใน 1 หน้า และกำหนดแถบความเสี่ยง (risk scale) เพื่อช่วยให้เปรียบเทียบความเสี่ยงระหว่างตราสารได้
รวมถึงเพิ่มข้อมูลเปรียบเทียบอัตราส่วนทางการเงินเฉลี่ยของอุตสาหกรรมและผลตอบแทนของหุ้นกู้ที่ใกล้เคียง
- เพิ่มกลไกจัดการเมื่อเกิดการผิดนัดชำระหนี้ เช่น กำหนดหน้าที่ให้ผู้ออกตราสารหนี้และนายทะเบียนหลักทรัพย์ต้องรายงานการผิดนัดชำระหนี้ต่อสำนักงานและผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวที่เว็บไซต์ ก.ล.ต www.sec.or.th/hearing โดยผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail: debt@sec.or.th จนถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2562