ก.ล.ต. เปิดเผยผังโครงการต้นแบบสำหรับตลาดทุนไทย (Master Blueprint for Thai Capital Market) ในการนำ distributed ledger technology หรือ DLT มาใช้เป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่จะเป็นประโยชน์ต่อตลาดทุนไทยโดยรวม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และช่วยเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงตลาดทุน โดยเริ่มกับธุรกิจตราสารหนี้ภาคเอกชนเป็นโครงการนำร่อง
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในฐานะประธานคณะทำงาน Digital Infrastructure for Capital Market ซึ่ง ก.ล.ต. จัดตั้งขึ้นตามโครงการแนวทางการนำ Distributed Ledger Technology (DLT) มาใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของตลาดทุนไทย กล่าวว่า คณะทำงานฯ ซึ่งได้ประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 ได้ร่วมกันพิจารณาผังโครงการต้นแบบสำหรับตลาดทุนไทย (Master Blueprint for Thai Capital Market) และแนวทางในการขับเคลื่อนโครงการเรียบร้อยแล้ว
“ผังโครงการต้นแบบสำหรับตลาดทุนไทยนี้จะทำให้เห็นภาพรวมทั้งหมดว่า ตลาดทุนไทยจะสามารถนำเทคโนโลยี DLT มาประยุกต์ใช้กับกระบวนการต่าง ๆ ได้อย่างไรบ้าง ตั้งแต่การออกและเสนอขาย ทั้งการซื้อขายในตลาดแรกและตลาดรอง ไปจนถึงกระบวนการหลังการซื้อขายที่เกี่ยวข้องกับตราสารหนี้ หุ้นเอสเอ็มอี กองทุน และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นการชำระราคาและส่งมอบ การจัดทำทะเบียนผู้ถือตราสาร และการรับฝากตราสาร ไปจนถึงการจ่ายดอกเบี้ยหรือเงินปันผล ซึ่งจะเป็นการพัฒนาระบบของตลาดทุนไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยจะเริ่มจากการพัฒนากระบวนการในธุรกิจตราสารหนี้ภาคเอกชนเป็นธุรกิจแรก เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีต้นทุนสูง มีกระบวนการซับซ้อน จึงใช้เวลานานกว่ากระบวนการจะเสร็จสมบูรณ์ ดังนั้น หากมีการนำเทคโนโลยี DLT มาประยุกต์ใช้จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน เพิ่มความโปร่งใส และช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบธุรกิจ รวมทั้งช่วยลดต้นทุนและเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงตลาดทุนของผู้ระดมทุนและผู้ลงทุนได้” เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าว
ทั้งนี้ โครงการนำ DLT มาใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของตลาดทุนไทย ได้มีการเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2562 และขับเคลื่อนโดยคณะทำงานฯ ซึ่งมีเลขาธิการ ก.ล.ต. เป็นประธาน และมีผู้แทนองค์กรจากหลายภาคส่วน อาทิ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย สมาคมบริษัทจัดการลงทุน สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย สมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติ โดยมีบริษัท เอคเซนเชอร์ โซลูชั่นส์ จำกัด และบริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด เป็นที่ปรึกษาโครงการ
______________________________