ก.ล.ต. เผยความคืบหน้าหลังจากว่าจ้างทีดีอาร์ไอทำการศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลสำนักงานสอบบัญชีและผู้สอบบัญชีในตลาดทุนของไทยเปรียบเทียบกับของต่างประเทศ เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะและแนวทางในการพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ เพื่อให้สามารถกำกับดูแลสำนักงานสอบบัญชีและผู้สอบบัญชีในตลาดทุนไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น
เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ว่าจ้างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ทำการศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลสำนักงานสอบบัญชีและผู้สอบบัญชีในตลาดทุนของต่างประเทศ เพื่อนำมาใช้ประกอบการพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ให้สามารถกำกับดูแลสำนักงานสอบบัญชีและผู้สอบบัญชีในตลาดทุนไทยได้ อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ ก.ล.ต. ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญภายนอกมาทำการศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลสำนักงานสอบบัญชีและผู้สอบบัญชีในตลาดทุนของไทยเปรียบเทียบกับของต่างประเทศ ในขณะนี้ ทีดีอาร์ไออยู่ระหว่างศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะและแนวทางในการพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ โดยปัจจุบันมีความคืบหน้าในการเริ่มศึกษากฎหมายของประเทศที่สำคัญไปแล้ว 5 ประเทศ ซึ่งเบื้องต้นพบว่าประเทศส่วนใหญ่มีกฎหมายรองรับให้หน่วยงานกำกับดูแลสามารถกำกับดูแลสำนักงานสอบบัญชีได้ รวมถึงการจัดให้มีการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เกี่ยวข้องต่อการแก้ไข พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ด้วยในลำดับต่อไป ซึ่งผลการศึกษาและข้อเสนอแนะในเรื่องดังกล่าว คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2563
จากนั้น ก.ล.ต. จะเร่งดำเนินการเสนอแก้ไข พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ต่อไป โดยมุ่งหวังให้การบังคับใช้กฎหมายและยกระดับการคุ้มครองผู้ลงทุนในตลาดทุนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และสอดคล้องกับคำแนะนำที่ได้รับจากการประเมินภาคการเงิน (Financial Sector Assessment Program: FSAP) ครั้งล่าสุดในปี 2562 ที่ให้ ก.ล.ต. แก้ไขกฎหมายหลักทรัพย์เพื่อให้มีอำนาจลงโทษสำนักงานสอบบัญชีในตลาดทุนได้
นอกจากนี้ ก.ล.ต. จะแจ้งผลการศึกษาดังกล่าวให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ทราบเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาแก้ไขพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 ในส่วนที่เกี่ยวข้อง อันจะนำไปสู่การยกระดับการกำกับดูแลคุณภาพการสอบบัญชีทั้งระบบต่อไป”
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ให้ความสำคัญกับคุณภาพงานสอบบัญชี ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยยกระดับความน่าเชื่อถือของระบบรายงานทางการเงินของบริษัทในตลาดทุน และระบบการควบคุมคุณภาพของสำนักงานสอบบัญชีมีส่วนช่วยอย่างมากในการทำให้งานของผู้สอบบัญชีมีคุณภาพ ปัจจุบัน ก.ล.ต. จึงกำหนดให้ผู้สอบบัญชีในตลาดทุนต้องสังกัดสำนักงานสอบบัญชีที่มีระบบงานที่เป็นไปตามมาตรฐานการควบคุมคุณภาพ อย่างไรก็ดี โครงสร้างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลการสอบบัญชีของประเทศไทยในปัจจุบัน ยังเน้นการกำกับดูแลที่ผู้สอบบัญชีรายบุคคล โดยไม่ได้ให้อำนาจหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลสำนักงานสอบบัญชีโดยตรง