Sign In
ข่าว ก.ล.ต.

ก.ล.ต. เปิดตัวโครงการ Regulatory Guillotine ปรับปรุงกฎเกณฑ์ทุกด้าน ในโอกาสครบรอบก่อตั้ง 28 ปี



วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม 2563 | ฉบับที่ 98 / 2563


ก.ล.ต. เปิดตัวโครงการ Regulatory Guillotine ปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่ครอบคลุมทุกด้าน โดยการลดขั้นตอน กระบวนการ และจำนวนเอกสารที่ต้องยื่นต่อ ก.ล.ต. รวมทั้งทบทวนกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบันและมีเท่าที่จำเป็น เพื่ออำนวยความสะดวกและลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น ยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้แก่ภาคธุรกิจ และลดภาระของประชาชน สอดคล้องกับหลักการในมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญ เนื่องในโอกาสครบรอบ 28 ปี แห่งการก่อตั้ง ก.ล.ต.

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต. ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้วยการมีกฎระเบียบที่ได้มาตรฐานและอำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจ จึงกำหนดให้โครงการ Regulatory Guillotine เป็นโครงการสำคัญภายใต้แผนยุทธศาสตร์ของ ก.ล.ต. (พ.ศ. 2563 – 2565) โดย ก.ล.ต. จะดำเนินการลดขั้นตอน กระบวนการ และจำนวนเอกสารที่ต้องยื่นต่อ ก.ล.ต. รวมทั้งทบทวนกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบันและมีเท่าที่จำเป็น ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนให้แก่ภาคธุรกิจ ลดภาระของประชาชน รวมทั้งยังสอดคล้องกับหลักการในมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญ 

“ในโอกาสครบรอบ 28 ปี ก.ล.ต. จัดทำโครงการ Regulatory Guillotine ซึ่งเป็นการปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่ครอบคลุมทุกด้าน ให้แก่ตลาดทุนไทย ภาคธุรกิจ และประชาชน โดยตลอดปีนี้จะได้เห็นการปรับแก้ไขกฎเกณฑ์เพื่อลดภาระของภาคเอกชน ทั้งในด้านการลดขั้นตอน การดำเนินการ การยกเลิกการส่งเอกสารหรือรายงานที่เป็นกระดาษ และการจัดทำประมวลกฎเกณฑ์โดยมีคู่มือประกอบเพื่อให้สะดวกต่อการใช้งาน ซึ่ง ก.ล.ต. จะทยอยดำเนินการให้เสร็จสิ้นในปี 2563 นี้” นางสาวรื่นวดี กล่าว

ทั้งนี้ โครงการ Regulatory Guillotine ที่มีกำหนดการแล้วเสร็จภายในปี 2563 – 2564 มีจำนวน 19 โครงการย่อย โดยมีโครงการนำร่องที่ดำเนินการไปแล้ว เช่น 

1. โครงการพัฒนากระบวนการยื่นขออนุมัติจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม แบบไร้กระดาษ (paperless) ก.ล.ต. ได้พัฒนาระบบและปรับปรุงหลักเกณฑ์การขออนุมัติจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม รวมทั้งการยื่นเอกสารประกอบคำขอผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (ระบบ OFAM) โดยไม่ต้องส่งเอกสารเป็นกระดาษมายัง ก.ล.ต. อีกส่งผลให้เป็นการปลดภาระของภาคเอกชนในการจัดส่งคำขอและเอกสารประกอบคำขอเป็นกระดาษทั้งหมด หรือร้อยละ 100 โดยได้ดำเนินการแล้วเสร็จและพร้อมใช้งานตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1 ของปี 2563

2. โครงการปรับปรุงแบบแสดงรายการข้อมูลเสนอขายตราสารหนี้ (แบบ filing) โดยจะยุบรวมแบบ filing ทั้งหมด 32 แบบ ให้เหลือเพียง 13 แบบ ส่งผลให้จำนวนแบบ filing ที่ภาคเอกชนต้องนำส่งต่อ ก.ล.ต. ลดลงถึงร้อยละ 60 และคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 

____________________________ 

หมายเหตุ: Regulatory Guillotine คือ การทบทวนกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน โดยใช้วิธีที่รวดเร็ว โปร่งใส ใช้ต้นทุนต่ำ และมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง