จากสถานการณ์วิกฤต COVID-19 ที่กำลังส่งผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะในประเทศไทย ตามรายงานกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ล่าสุดพบว่า ขยะ โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์พลาสติกมีปริมาณเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 15 จาก 5,500 ตันต่อวัน เป็น 6,300 ตันต่อวัน ทั้งนี้ ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา มีขยะพลาสติกเกิดขึ้นโดยเฉลี่ยปีละ 2 ล้านตัน มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่หรือ recycle ประมาณ 0.5 ล้านตัน ส่วนที่เหลือ 1.5 ล้านตัน ไม่ถูก recycle ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากขยะขาดการคัดแยกที่ต้นทาง ถือเป็นการเสียโอกาสในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Thailand Responsible Business Network – TRBN) และภาคีต่างๆ เห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างครบวงจรและยั่งยืน ผ่านการมีส่วนร่วมและความร่วมมือของภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชน จึงริเริ่มโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” รณรงค์ประชาสัมพันธ์การ “แยกที่บ้าน ฝากทิ้งที่เรา” และให้ความรู้การคัดแยกขยะพลาสติกแก่ผู้บริโภคตั้งแต่ต้นทาง เพื่อความปลอดภัยของซาเล้งและพนักงานเก็บขยะ ลดปริมาณขยะพลาสติกสู่บ่อฝังกลบ และเพิ่มการนำพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ผ่านกระบวนการ recycle/upcycle ของบริษัทเอกชน และเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) เกิดขึ้นได้จริง
โครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เริ่มต้นนำร่อง 2 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2563 ด้วย ผ่านการตั้งจุดรับพลาสติกจำนวน 10 จุดในถนนสุขุมวิท ได้แก่ 1) Emporium 2) EmQuartier 3) Singha Complex 4) Bambini Villa 5) Broccoli Revolution 6) A Square 7) The Commons 8) Tesco Lotus สุขุมวิท 51 9) CP Fresh Mart เพชรบุรี 38/1 (สุขุมวิท 39) 10) Veggiology โดยรับขยะพลาสติก 2 ประเภท คือ พลาสติกยืดและพลาสติกแข็งที่ทำความสะอาดเรียบร้อยจากประชาชนทั่วไป และมีแอพพลิเคชั่น ECOLIFE เก็บแต้มสะสมแลกของสมนาคุณต่างๆ มีผู้สนับสนุนระบบ logistics ผู้ดำเนินธุรกิจ recycle/upcycle และ brand owners ที่มีนโยบายเรื่องการเรียกคืนขยะพลาสติกที่ชัดเจน รวมทั้งผู้สนับสนุนด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ และมีนักวิชาการมาร่วมออกแบบการเก็บข้อมูลวิจัยถอดบทเรียน เพื่อการต่อยอดขนาดผลต่อไป รวมมีภาคีจาก 24 องค์กร ประกอบด้วยภาคเอกชนขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ ถือเป็นความร่วมมือของภาคีเครือข่ายตลอดห่วงโซ่คุณค่าพลาสติก เพื่อ close loop นำพลาสติกจากผู้บริโภคส่งเข้าสู่กระบวนการจัดการให้สามารถแปรรูปกลับไปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ผู้บริโภคใช้อีกครั้ง เกิดเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน
“ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ได้ช่วยกันมีแนวคิดต่าง ๆ มีโครงการต่าง ๆ เพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่ออนาคตที่ดีของประเทศเราวันนี้เห็นแล้วว่า เมื่อเราไม่เอาขยะไปทิ้งตามที่ต่าง ๆ ไม่มีใครเดือดร้อน ดังนั้น ถึงเวลาที่เราต้องหาวิธีทำให้เป็น full circular economy ด้วยแนวทางการทำงานในวันนี้ เราสามารถที่จะแปรรูปพลาสติกที่เราไม่ใช้แล้ว ตอนนี้เรามีความคิดว่าเราส่งพลาสติกกลับบ้าน มาเปลี่ยนพลาสติกให้เป็นบุญ เช่น ทาง GC นำพลาสติกมา upcycle มาเป็นเสื้อยืด ของเล่น วัสดุต่าง ๆ รวมไปถึงจีวรพระ ซึ่งเทคโนโลยีสามารถทำให้เต็ม loop ได้ ดังนั้น ต้องตัดคำว่า สะดวก สบาย ถ้าเราเอาคำนี้ออกไปได้ ปัญหาขยะพลาสติกล้นเมือง ล้นประเทศจะลดลง และส่งพลาสติกไปในที่ที่พลาสติกจะไป ไม่ว่า จะกลับบ้าน หรือ เปลี่ยนอะไรก็แล้วแต่ วันนี้ เราทั้งฝ่ายภาครัฐ ภาคประชาชน มาช่วยกันเพื่อให้อนาคตท้องทะเลจะได้ไม่มีพลาสติก สัตว์ป่าไม่ต้องกินพลาสติกเป็นอาหาร และช่วยรักษาโลกให้กับคนรุ่นหลังต่อไป” นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
“ก.ล.ต. ส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนผนวก ESG เข้ากับการทำธุรกิจของตนเองเพื่อความยั่งยืน และให้เปิดเผยข้อมูลการดำเนินการที่เกี่ยวกับ ESG สนับสนุนให้มีการเผยแพร่องค์ความรู้ ออกคู่มือและแนวทางปฏิบัติที่ดี ตลอดจนจัดกิจกรรมและโครงการเพื่อส่งเสริมการดำเนินการให้บรรลุผล อาทิ โครงการเสริมสร้างตลาดทุนธรรมาภิบาลเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก การร่วมจัดตั้งเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย TRBN โครงการถนนวิภาวดีฯ ไม่มีขยะ ภายใต้โครงการเฉลิมพระเกียรติฯ มุ่งหมายเพื่อเชิญชวนบริษัทจดทะเบียนและบริษัทอื่น ๆ ที่มีที่ทำการหรือมีโครงการอยู่ในแนวถนนวิภาวดีรังสิต มาร่วมกันกับ ก.ล.ต. ในการบริหารจัดการขยะภายในองค์กรที่มีประสิทธิภาพ
สำหรับโครงการส่งพลาสติกกลับบ้าน ต้องขอขอบคุณ TRBN เป็นอย่างยิ่งที่ริเริ่มโครงการและได้เชิญชวนให้ ก.ล.ต. เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ ซึ่งเป็นการจัดการปัญหาพลาสติกที่ตรงจุดและทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ circular economy และเชื่อมั่นว่าจะเป็นจุดตั้งต้นสำคัญในการแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง จึงขอเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนสนับสนุนและมีส่วนร่วมในโครงการนี้ต่อไป” นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
“การจะทำให้ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” เกิดได้จริง ทำคนเดียวไม่ได้ ภาครัฐทำเองไม่ได้ ธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งก็ไม่ได้ต้องอาศัยการจับมือของหลายบริษัทตลอดห่วงโซ่พลาสติก และที่สำคัญคือการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคในการคัดแยกพลาสติกที่ต้นทาง อีกทั้งการสนับสนุนผลักดันของภาครัฐ เราจึงรวมตัวกันพัฒนาเป็นโครงการนำร่องบนถนนสุขุมวิทและเปิดจุด drop point มีกระทรวงทรัพยากรฯ ภาคเอกชนขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ภาคประชาสังคมและวิชาการ รวม 24 องค์กร จับมือกัน เพื่อนำพลาสติกใช้แล้วจากผู้บริโภคเข้าสู่กระบวนการ recycle แปรรูปเพื่อส่งกลับไปเป็นผลิตภัณฑ์ให้ผู้บริโภคใช้อีกครั้ง หรือเรียกว่า ปิด loop” นางพิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย
“GC ริเริ่มโครงการร่วมกับภาคีพันธมิตร โดยนำร่องจุด Drop Point บนถนนสุขุมวิท ซึ่งเป็นสังคมเมืองอย่างแท้จริง GC เชื่อมั่นในเรื่องความยั่งยืน และนำมาเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลัก ในการขับเคลื่อนธุรกิจ โดย GC มีทางออกให้กับทุกคน 1. Bioplastics - ฝังกลบ แล้วเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 2. พลาสติกมีประโยชน์ - ใช้ให้เป็น ทิ้งให้ถูก 3. ความร่วมมือ - เกิดเป็น ecosystem ร่วมกับภาครัฐและเอกชน โดยการทำให้สำเร็จต้องเริ่มจากที่บ้าน เชื่อว่า New Norm คือ พลาสติกเป็นสิ่งมีประโยชน์แต่ต้องถูกจัดการอย่างถูกต้อง GC ยินดีแชร์องค์ความรู้และสนับสนุนให้เกิดการขยายผล” นายคงกระพัน อิทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
“การเรียนรู้และวิจัยพัฒนา เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญสำหรับการต่อยอด “โครงการส่งพลาสติกกลับบ้าน” ให้เป็นต้นแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มาพร้อมกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมอย่างยั่งยืน” ศ. ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดี และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“ปัญหาขยะพลาสติก เป็นประเด็นที่เกิดขึ้นมานาน และกำลังส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบนิเวศของโลก ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม พลาสติกมีประโยชน์อย่างยิ่งแต่ต้องมีการบริหารจัดการที่ดีอย่างเป็นระบบภายใต้แนวคิด circular economy เพื่อแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว ซีพีเอฟ จึงเข้าร่วมกับเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทยในการจัดทำโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” โดยการดึงการมีส่วนร่วมทั้งจากผู้ผลิตและผู้บริโภค ส่งพลาสติกกลับคืนสู่แหล่งที่มา เพื่อนำไปหมุนเวียนกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด” นายประสิทธิ์ บุญดวงประสิทธิ์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ
“ในสภาพสังคมปัจจุบัน ที่มีการใช้ผลิตภัณฑ์จากพลาสติกมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันในทุก ๆ ปี และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้างซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไป บริษัท แก้วกรุงไทย จำกัด ผู้พัฒนา Application C3Leng (ซีซาเล้ง) ซึ่งเป็นแอปฯ การจัดการขยะรีไซเคิล มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” ซึ่งจะสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกตกค้างในชุมชน โดยการนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างมีประสิทธิภาพ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการนี้จะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากประชาชนทุกภาคส่วน และประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์” นายบุญชู สถิตมั่นในธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท แก้วกรุงไทย จำกัด
“บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) เล็งเห็นว่าผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้เพื่อสอดคล้องกับหลักการ circular economy โดยการรีไซเคิลนั้นมีหัวใจสำคัญคือ การแยกขยะอย่างถูกต้อง ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนแยกขยะและเข้าใจหลักการรีไซเคิล บริษัทฯ จึงได้จัดตั้งโครงการ “วน” และร่วมสนับสนุนโครงการส่งพลาสติกกลับบ้าน ซึ่งเป็นโครงการที่รับพลาสติกชนิดยืดและพลาสติกแข็งจากประชาชนมารีไซเคิล เพื่อเป็นการเสริมสร้างให้ประชาชนมีจิตสำนึกที่ดีและเข้าใจการรีไซเคิลได้อย่างเป็นรูปธรรม” นายกมล บริสุทธนะกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) และผู้ก่อตั้งโครงการวน
“ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย ประกาศความร่วมมือกับเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN) ในโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” ทั้งนี้ ยูนิลีเวอร์ได้มีแผนการการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน (Unilever Sustainable Living Plan) เพื่อเป็นกรอบการปฏิบัติให้การเติบโตของธุรกิจของเราไม่สร้างผลกระทบต่อสังคม และยกระดับสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนซึ่งปี 2563 นี้จะครบรอบ 10 ปีของ USLP รวมทั้งเรามีพันธกิจที่จะลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมลงครึ่งหนึ่ง ด้วยการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ สามารถรีไซเคิลได้ หรือย่อยสลายได้ 100% และเมื่อปีที่ผ่านมา เราได้ประกาศแผนลดการใช้พลาสติกใหม่ (Virgin Plastic) ในบรรจุภัณฑ์ลงครึ่งหนึ่งและให้คำมั่นที่จะเก็บและแปรรูปบรรจุภัณฑ์พลาสติกให้มากกว่าที่ขาย ทั้งหมดนี้จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2568 ทั้งนี้ ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย อยู่บนเส้นทางแห่งการปฏิวัติพลาสติกโดยได้เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากพลาสติกใหม่เป็นพลาสติกรีไซเคิลแบบ post-consumer recycled (PCR) แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่ดีพอ เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการแยกประเภทขยะตั้งแต่ต้นทาง การทำความสะอาด และการจัดเก็บที่เป็นกุญแจสำคัญที่จะก้าวไปสู่การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน หนึ่งในขยะพลาสติกที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากมายคือ ขยะพลาสติกกำพร้าที่ไม่มีใครอยากได้แต่สามารถไปรีไซเคิลได้ ประเภทที่ไม่ยืดและประกอบด้วยพลาสติกหลายชั้น เช่น ถุงขนม ถุงเติมสบู่และน้ำยาแบบต่าง ๆ ดังนั้นการส่งพลาสติกกำพร้าเหล่านี้กลับบ้านจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในการลดขยะพลาสติก และมอบวงจรชีวิตใหม่กับพลาสติกเหล่านั้นต่อไป” นางณัฏฐิณี เนตรอำไพ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายองค์กรและสื่อมวลชนสัมพันธ์ กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย
__________________________
ช่องทางติดต่อ
สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ“ส่งพลาสติกกลับบ้าน”และวิธีการแยกขยะอย่างถูกต้อง สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/sendplastichome/?ref=bookmarks และหรือสามารถติดต่อขอข้อมูลได้ที่ นางสาวรัมภ์รดา นินนาท หมายเลขติดต่อ 081-819-0110 e-mail: earth111@gmail.com
TRBN คือ ใคร?
เครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Thailand Responsible Business Network-TRBN) เกิดขึ้นจาก "สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย" ได้ร่วมกับ 9 องค์กร อันประกอบด้วย 1. ธนาคารแห่งประเทศไทย 2. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) 3. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) 4. สภาธุรกิจตลาดทุนไทย 5. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) 6. สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย 7. สมาคมธุรกิจเพื่อสังคม 8. SB ประเทศไทย 9. สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) จัดตั้ง "เครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย" (Thailand Responsible Business Network : TRBN) เพื่อชักชวนบริษัทจดทะเบียนและบริษัทเอกชนทั่วไป รวมถึงภาคส่วนอื่นๆ ผนวกการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเป้าหมายขององค์กรและการประกอบการ และร่วมลงมือดำเนินโครงการที่ตอบปัญหาและความต้องการในมิติต่างๆ ของส่วนรวมอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถวัดและรายงานผลได้เป็นรูปธรรม สร้างผลกระทบเชิงบวกและเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ และสากล