ปัจจุบันมีเอกชนหลายรายสนใจนำทรัพย์สินต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น อสังหาริมทรัพย์ เช่น อาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม หรือทรัพย์สินอื่น ๆ เช่น รูปภาพ อัญมณี บัญชีลูกหนี้ หลักทรัพย์ เป็นต้น มาแปลงเป็นโทเคนดิจิทัลและออกเสนอขายต่อประชาชน (tokenization) โดยหากเป็นการออกเสนอขาย asset-backed ICO เพื่อการระดมทุนที่มีลักษณะ (substance) คล้ายกับหลักทรัพย์ เช่น ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (securitization) ใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงหรือตราสารแสดงสิทธิของผู้ฝากทรัพย์สิน (DR) ในต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะกำกับดูแลภายใต้กฎหมายหลักทรัพย์ สำหรับประเทศไทยนั้น หากโทเคนดิจิทัลที่เสนอขายมีลักษณะเช่นเดียวกับหลักทรัพย์ เช่น REIT หุ้นกู้ securitization หรือ DR แม้จะออกในรูปแบบดิจิทัล ก็จะถือเป็นหลักทรัพย์และต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ภายใต้พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 โดยไม่ถือเป็นโทเคนดิจิทัลตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ)
อย่างไรก็ดี หากโทเคนดิจิทัลที่ออกเสนอขายไม่เข้าลักษณะของหลักทรัพย์ ก็จะถูกกำกับดูแลภายใต้ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ นอกจากนี้ ในกรณีที่มีการโฆษณาเกี่ยวกับการออกเสนอขาย asset-backed ICO ถึงสิทธิหรือความเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่นำมาแปลงเป็นโทเคนดิจิทัล หากพิจารณาสิทธิตามกฎหมายแล้ว การนำทรัพย์สินมาแปลงเป็นโทเคนดิจิทัลนั้น ผู้ถือโทเคนดิจิทัลจะมีสิทธิเรียกร้องต่อผู้ออกเสนอขายโทเคนดิจิทัล (issuer) เท่านั้น โดยไม่ได้มีกฎหมายพื้นฐานรับรองกรรมสิทธิ์หรือความเป็นเจ้าของบนทรัพย์สินที่นำมาอ้างอิงหรือแปลงเป็นโทเคนดิจิทัลแต่อย่างใด
ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในกฎเกณฑ์และการกำกับดูแล (regulatory arbitrage) ระหว่าง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ และ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ และเพื่อให้มีการคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างเหมาะสม รวมทั้งมีการรักษาสิทธิของผู้ลงทุนอย่างเป็นธรรม ภายใต้กฎเกณฑ์ที่สอดคล้องกับลักษณะ รูปแบบ และความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์การลงทุน ก.ล.ต. จึงอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลการออกเสนอขาย real estate-backed ICO และ asset-backed ICO อื่น ๆ ให้เทียบเคียงได้กับหลักเกณฑ์การออกเสนอขายหลักทรัพย์ที่มีลักษณะคล้ายกัน เพื่อสนับสนุนการระดมทุนด้วยเทคโนโลยี และในขณะเดียวกันก็มีกลไกคุ้มครองผู้ลงทุนที่เหมาะสม
ทั้งนี้ ปัจจุบันยังไม่มี ICO รายใดที่ได้รับอนุญาตให้ออกเสนอขายจากสำนักงาน ก.ล.ต. โดยผู้ลงทุนสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ได้รับอนุญาตเสนอขายโทเคนดิจิทัลได้ที่ www.sec.or.th และแอปพลิเคชัน “SEC Check First” นอกจากนี้ หากผู้ลงทุนมีข้อสอบถามหรือต้องการแจ้งเบาะแสสามารถติดต่อได้ที่สายด่วนศูนย์บริการประชาชน ก.ล.ต. โทร.1207 ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน หรือ complain@sec.or.th เพื่อการตรวจสอบต่อไป
_______________________