Sign In
ข่าว ก.ล.ต.

ก.ล.ต. จัดประชุมคณะทำงานจัดทำหลักสูตรอบรม “ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน สำหรับภาคธุรกิจในตลาดทุน” ครั้งที่ 2/2563 และเห็นชอบหลักสูตรอบรมให้แก่ภาคธุรกิจในตลาดทุนไทย



วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน 2563 | ฉบับที่ 225 / 2563


สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดประชุมคณะทำงานจัดทำหลักสูตรอบรม “ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน สำหรับภาคธุรกิจในตลาดทุน”* เพื่อหารือหลักสูตรอบรมด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนให้แก่ภาคธุรกิจในตลาดทุนไทยตามที่ได้รับมอบหมายพันธกิจตามแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562 – 2565) หรือ National Action Plan on Business and Human Rights (แผน NAP)โดยใช้หลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs) เพื่อช่วยให้บริษัทจดทะเบียนสามารถผนวกเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้ากับการดำเนินธุรกิจ และจัดทำรายงานในแบบ 56-1 One Report ได้ภายในปี 2565 โดยคณะทำงานเห็นชอบหลักสูตรตามที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอ

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 ก.ล.ต. จัดประชุมคณะทำงานจัดทำหลักสูตรอบรม “ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน สำหรับภาคธุรกิจในตลาดทุน” (คณะทำงาน) ครั้งที่ 2/2563 โดยมีนางสิริวิภา สุพรรณธเนศ รองเลขาธิการ ก.ล.ต. เป็นประธาน  พร้อมทั้งที่ปรึกษาและคณะทำงาน อาทิ  ศาสตราจารย์กิตติคุณวิทิต มันตาภรณ์ รองศาสตราจารย์ทองทิพภา วิริยะพันธุ์  ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร รองเลขาธิการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย นางพิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย เพื่อหารือหลักสูตรอบรมด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ให้แก่ ภาคธุรกิจในตลาดทุนไทยตามที่ได้รับมอบหมายพันธกิจตามแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 1  (พ.ศ. 2562 – 2565) หรือ แผน NAP โดยใช้หลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs) ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวจะช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถไปปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจได้  

การประชุมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของคณะทำงาน เป็นผู้นำเสนอหลักสูตรดังกล่าว ในฐานะหัวหน้าโครงการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนสำหรับภาคธุรกิจในตลาดทุนไทย (ระยะที่ 1) โดยที่แผนการดำเนินการในช่วงต้นจะเริ่มจากจัดสัมมนากลุ่มย่อยผู้บริหารระดับสูง - กลาง เพื่อระดมความคิดเห็นเพื่อรับทราบข้อมูลที่เหมาะสมกับแนวทางปฏิบัติของธุรกิจภายใต้กรอบ UNGPs  และเพื่อใช้สำหรับจัดทำแนวทางสำหรับบริษัทจดทะเบียนเพื่อให้สามารถจัดทำข้อมูลด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนในแบบรายงานเดียว (แบบ 56-1 One report) ได้  พร้อมทั้งจะจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น (CEO Dialogue) เพื่อให้เกิดความมุ่งมั่นในเชิงนโยบาย (Policy commitment) ของคณะกรรมการและผู้บริหาร  เพื่อนำไปสู่วัฒนธรรมองค์กรและการจัดทำนโยบายที่สนับสนุนการดำเนินการดังกล่าว  และจะจัดให้มีหลักสูตรอบรม “หลักสูตรธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนสำหรับบริษัทจดทะเบียน” สำหรับบริษัทจดทะเบียนทุกแห่งต่อไป  

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะทำงานเห็นชอบให้คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้จัดทำและกำหนดโครงสร้างหลักสูตรอบรมและสัมมนา โดยคาดว่าจะเริ่มจัดอบรมให้แก่บริษัทจดทะเบียนได้ตั้งแต่ไตรมาส 1 ของปี 2564 เป็นต้นไป และไม่มีค่าใช้จ่าย 

_______________________ 

หมายเหตุ :  *คณะทำงานจัดทำหลักสูตรอบรม “ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน สำหรับภาคธุรกิจในตลาดทุน” ประกอบด้วย ที่ปรึกษาคณะทำงาน ได้แก่ 

(1) ศาสตราจารย์กิตติคุณวิทิต มันตาภรณ์ 

(2) นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์  

(3) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์  

(4) เลขาธิการ ก.ล.ต.  

คณะทำงาน ได้แก่

(1) ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม 

(2) ผู้แทนกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน  

(3) ผู้แทนสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP)  

(4) ผู้อำนวยการเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย 

(5) ผู้แทนสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย  

(6) นางหรรษา บุญรัตน์  

(7) นางสาวนงเยาว์ อบสุวรรณ  

(8) รองศาสตราจารย์ทองทิพภา วิริยะพันธุ์  

(9) ดร.สุธาดา เมฆรุ่งเรืองกุล 

(10) ดร.นณริฏ พิศลยบุตร  

(11) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤษฎากร ว่องวุฒิกุล  

(12) ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต.







ข่าวในหมวดเดียวกัน

ก.ล.ต. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดเก็บหลักฐานเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
ก.ล.ต. เปิดรับฟังความเห็นปรับปรุงหลักเกณฑ์การนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ และหลักเกณฑ์รองรับโครงการ Sandbox ของ ธปท.
ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแล
ก.ล.ต. เดินหน้าผลักดันการลงทุนอย่างยั่งยืนและการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศของกองทุน เน้นย้ำให้ระดับบริหารของ บลจ. ขับเคลื่อนการนำ ESG ไปปฏิบัติจริง
ก.ล.ต. เข้าร่วมเป็นสมาชิก ASEAN Taxonomy Board จัดทำมาตรฐานและเกณฑ์การจัดหมวดหมู่ด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนอาเซียน