สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนมาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ลงนามในบันทึกความเข้าใจฉบับเพิ่มเติมว่าด้วยกรอบข้อตกลงเพื่อเสนอขายกองทุนรวมภายใต้โครงการจัดการลงทุนต่างประเทศของกลุ่มประเทศอาเซียน เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 และรับฟิลิปปินส์เข้าเป็นภาคีภายใต้กรอบความร่วมมือ ASEAN Collective Investment Schemes (ASEAN CIS) นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของความสำเร็จในการยกระดับการเชื่อมโยงตลาดทุนและการกระจายเม็ดเงินลงทุนในภูมิภาคอาเซียน
ภายใต้กรอบความร่วมมือ ASEAN
CIS ซึ่ง ก.ล.ต. ไทย เป็นประธานคณะทำงาน หน่วยงานกำกับดูแลทั้ง 4
แห่ง จะใช้มาตรฐานกลางในการพิจารณาคุณสมบัติของกองทุนรวมที่จะอนุญาตให้มีการเสนอขายข้ามประเทศและคุณสมบัติของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่จะจัดตั้งกองทุนรวมดังกล่าว
ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนในกระบวนการขออนุญาตเสนอขายกองทุนรวมแบบข้ามประเทศ อันจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้ บลจ.
มีช่องทางตรงที่มีประสิทธิภาพในการเสนอขายหน่วยลงทุนระหว่างกัน รวมทั้งช่วยเพิ่มโอกาสและทางเลือกสำหรับผู้ลงทุนในประเทศสมาชิกมากขึ้นโดยยังมีกลไกในการคุ้มครองผู้ลงทุน
ทั้งนี้ บันทึกความเข้าใจฉบับเพิ่มเติมนี้ เริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11
พฤษภาคม 2564
Mr. Syed Zaid Albar ประธาน ก.ล.ต. มาเลเซีย กล่าวว่า
“กรอบความร่วมมือ ASEAN CIS ช่วยให้ผู้ลงทุนรายย่อยสามารถเข้าถึงกองทุนรวมที่เสนอขายในต่างประเทศ
ซึ่งทำให้มีทางเลือกในการลงทุนที่หลากหลายมากขึ้นโดยที่ผู้จัดการกองทุนก็สามารถเสนอขายกองทุนรวมข้ามประเทศภายใต้ระบบการอนุมัติที่มีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ การรับฟิลิปปินส์เข้าร่วมเป็นภาคีของกรอบความร่วมมือนี้ จะช่วยขยายขอบเขตกองทุนรวมที่เสนอขายในระดับภูมิภาค
และช่วยในด้านการกระจายการลงทุนของผู้ลงทุน โดยมาเลเซียหวังว่าจะได้ต้อนรับหน่วยงานกำกับดูแลในอาเซียนอื่นอีกเพื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกภายใต้กรอบความร่วมมือนี้ในอนาคต”
Mr. Emilio B. Aquino ประธาน
ก.ล.ต. ฟิลิปปินส์ กล่าวว่า “ฟิลิปปินส์ขอขอบคุณในความทุ่มเทและ
การสนับสนุนจากหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนมาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย ในการต้อนรับฟิลิปปินส์เข้าร่วมเป็นภาคีของกรอบความร่วมมือ
ASEAN CIS โดยเฉพาะสมาชิกในระดับคณะทำงานของกรอบความร่วมมือดังกล่าวที่มีบทบาทสำคัญในการบรรลุความสำเร็จครั้งสำคัญนี้
ซึ่งช่วยให้ฟิลิปปินส์เข้ามามีส่วนร่วม
และมีโอกาสแนะนำผลิตภัณฑ์กองทุนรวมของฟิลิปปินส์ในระดับภูมิภาค”
“การขยายขอบเขตความร่วมมือ ASEAN CIS มายังฟิลิปปินส์ เป็นการยกระดับความเชื่อมโยงตลาดทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน และในฐานะที่เป็นผู้ร่วมลงนามลำดับที่
4 ของกรอบความร่วมมือนี้ ฟิลิปปินส์มีความมุ่งมั่น
ที่จะร่วมมือกับประเทศภาคีในการสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น
ๆ เข้ามามีส่วนร่วมและส่งเสริมให้มีการเสนอขายกองทุนรวมข้ามประเทศในกลุ่มอาเซียนมากยิ่งขึ้น” Mr. Emilio B. Aquino กล่าวเสริม
Mr. Lim Tuang Lee ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หน่วยงานกำกับดูแลตลาดเงินและตลาดทุนสิงคโปร์ กล่าวว่า
“การมีส่วนร่วมของ ก.ล.ต. ฟิลิปปินส์ ภายใต้กรอบความร่วมมือ ASEAN CIS นับเป็นก้าวสำคัญในการเชื่อมโยงตลาดทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนยิ่งขึ้น
การเข้าถึงผลิตภัณฑ์กองทุนรวมระหว่างกันที่มากขึ้นจะช่วยเปิดโอกาสในทางธุรกิจให้กับ
บลจ. และสร้างทางเลือกในการลงทุนให้แก่ผู้ลงทุนในประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ ASEAN
CIS อีกด้วย ในการนี้ สิงคโปร์ขอต้อนรับการมีส่วนร่วมของ ก.ล.ต.
ฟิลิปปินส์ และรอคอยการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกรอบความร่วมมือนี้
จากประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ ในอนาคต”
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต.
กล่าวว่า “ก.ล.ต. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสต้อนรับ ก.ล.ต. ฟิลิปปินส์
ในฐานะภาคีใหม่ของกรอบความร่วมมือ ASEAN CIS ซึ่งถือเป็นการเชื่อมโยงตลาดทุนได้อย่างเป็นรูปธรรมและส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของประเทศสมาชิกอาเซียนให้มากยิ่งขึ้น
รวมทั้งเสริมสร้างความแข็งแกร่งของตลาดทุนอาเซียน นอกจากนี้ ยังจะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนไทย
อีกทั้งจะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ตามวิสัยทัศน์ของ
ACMF 2025 โดย ก.ล.ต. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีโอกาสต้อนรับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ เข้าร่วมเป็นภาคีของกรอบความร่วมมือนี้ให้มากยิ่งขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้”
สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ของ ACMF 2025
(ACMF Vision 2025) และแผนการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
2015 ได้ที่ แผนปฏิบัติการ
ACMF 2021-2025 และ AECBP_2025r_FINAL.pdf (asean.org)