โครงการ “ถนนวิภาวดีฯ ไม่มีขยะ” เป็นโครงการที่เปิดตัวเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2562 มีวัตถุประสงค์เพื่อเชิญชวนบริษัทจดทะเบียนและหน่วยงานที่มีที่ตั้งบนถนนวิภาวดีรังสิต มาร่วมมือกันบริหารจัดการขยะภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพ ลดการใช้ทรัพยากร ลดปริมาณขยะสู่บ่อฝังกลบ เพิ่มอัตราการหมุนเวียนทรัพยากรเพื่อการนำกลับมาใช้ใหม่ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมี 14 บริษัท ที่ได้รับใบประกาศเกียรติคุณจากการเข้าร่วมการประเมินองค์กรที่มีกิจกรรมหรือการดำเนินการโดดเด่นในการบริหารจัดการขยะในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีการดำเนินงานต่อเนื่องอย่างน้อย 3 เดือน ตั้งแต่เข้าร่วมโครงการจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2563
บริษัทที่ได้รับประกาศเกียรติคุณประเภท Low Carbon Business: Waste Management Award เป็นบริษัทที่ได้คะแนนมากกว่าร้อยละ 70 ขึ้นไป มีจำนวน 3 บริษัท ได้แก่ (1) บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) (2) บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) และ (3) บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) และประกาศเกียรติคุณประเภท Active Participation Award สำหรับบริษัทที่ร่วมโครงการและตอบแบบสำรวจ มีจำนวน11 บริษัท ได้แก่ (1) บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (2) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (3) เครือเบทาโกร (4) บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (5) บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (6) บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) (7) บริษัท ยูนิซัน วัน จำกัด (8) บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) (9) บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (10) บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) และ (11) บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “ก.ล.ต. ขอแสดงความยินดีและชื่นชม 14 บริษัท ที่ได้รับใบประกาศเกียรติคุณภายใต้ 'โครงการถนนวิภาวดีฯ ไม่มีขยะ' ซึ่ง ก.ล.ต. เชื่อว่าโครงการนี้ได้เสริมสร้างความร่วมมือร่วมใจของบริษัทสมาชิกในการบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ และจะเป็นแรงบันดาลใจให้แก่บริษัทอื่นที่ตั้งอยู่ในแนวถนนวิภาวดีรังสิต ตลอดจนบริษัทที่ตั้งอยู่ในแนวถนนสายอื่น ๆ ตระหนักถึงความสำคัญในการบริหารจัดการขยะอย่างจริงจัง อันจะแสดงถึงการประกอบธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล และมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกลไกสำคัญหนึ่งที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้และเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป”
ทั้งนี้ การประเมินคะแนนเพื่อมอบใบประกาศเกียรติคุณดังกล่าวพิจารณาโดยผู้ทรงคุณวุฒิจาก 5 หน่วยงาน คือ (1) กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (2) กรมควบคุมมลพิษ (3) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (4) มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ (5) นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยพิจารณาจากปัจจัย 2 ส่วน ได้แก่ (1) การดำเนินงาน 3 หมวดหลัก ประกอบด้วย กระบวนการ การจัดการข้อมูล และการสร้างการมีส่วนร่วม และ (2) อัตราการรีไซเคิลขยะ (recycling rate)