Sign In
ข่าว ก.ล.ต.

ก.ล.ต. ร่วมมือกับ มอ. จัด “SEC Capital Market Regional Seminar 2021” เพื่อสนับสนุนงานวิจัยด้านตลาดทุนในระดับภูมิภาค



วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม 2564 | ฉบับที่ 136 / 2564


สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) จัดงานสัมมนาวิชาการในส่วนภูมิภาค “SEC Capital Market Regional Seminar 2021” ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีแรก เพื่อสนับสนุนผลงานทางวิชาการและนำไปต่อยอดสู่การพัฒนาและกำกับดูแลตลาดทุน โดยเฉพาะตลาดทุนยุคดิจิทัลที่มีเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในภาคการเงินการลงทุนมากขึ้น

การสัมมนาครั้งนี้ จัดขึ้นในรูปแบบสัมมนาผ่านระบบออนไลน์ โดยมีนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุมพล ชื่นจิตศิริ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐและเอกชน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน ร่วมเสวนาในหัวข้อ “ตลาดทุนรูปแบบใหม่เพื่อโอกาสสำหรับผู้ประกอบการและผู้ลงทุน” รวมทั้งการนำเสนอผลงานวิจัยที่เกี่ยวกับตลาดทุน เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2564 โดยเผยแพร่ผ่านช่องทางเฟซบุ๊กไลฟ์ “เพจสำนักงาน กลต.”

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “การจัดงานสัมมนาวิชาการ “SEC Capital Market Regional Seminar 2021 ครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยด้านตลาดทุนสำหรับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจและภาคประชาชนในภูมิภาคให้มีช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการลงทุนในตลาดทุนด้วยนวัตกรรมทางเทคโนโลยี นอกจากนี้ ยังเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายในการพัฒนาและกำกับดูแลตลาดทุน เพื่อให้มั่นใจว่านโยบายที่กำหนดขึ้นนั้นมีข้อมูลรองรับ ผ่านการศึกษาวิเคราะห์เชิงลึกมาเป็นอย่างดีและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตลาดทุนของประเทศ”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุมพล ชื่นจิตศิริ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงหัวข้องานวิจัยด้านตลาดทุนที่ได้นำเสนอในการสัมมนาครั้งนี้ว่า มีความสำคัญต่อการพัฒนาตลาดทุนไทยให้มีประสิทธิภาพและน่าเชื่อถือ ซึ่งจะช่วยในการประเมินสถานการณ์ปัจจุบัน และสะท้อนความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียอย่างรอบด้าน ทำให้การพัฒนาตลาดทุนโดยรวมสามารถตอบโจทย์ประเทศและความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแท้จริง

สำหรับการเสวนาในหัวข้อ “ตลาดทุนรูปแบบใหม่เพื่อโอกาสสำหรับผู้ประกอบการและผู้ลงทุน” ได้รับเกียรติจากผู้เข้าร่วมเสวนาจากหลากหลายสาขาในแวดวงตลาดทุน ได้แก่ นางมุขยา พานิช Chief Venture and Investment Officer บริษัท SCB10X จำกัด นายอนุรักษ์ บุญแสวง นักลงทุนผู้ประสบความสำเร็จและเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ นายศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย รวมถึงนางสาวจอมขวัญ คงสกุล ผู้ช่วยเลขาธิการสายระดมทุน ก.ล.ต. โดยร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับมุมมองการลงทุนในตลาดหุ้นไทย พฤติกรรมและความต้องการของผู้ลงทุนในปัจจุบันที่เริ่มเห็นการกระจายการลงทุนไปต่างประเทศมากขึ้นและมีความสนใจในสินทรัพย์ดิจิทัล แนวคิดหรือหลักการในการพิจารณาลงทุน รวมถึงการระดมทุนรูปแบบใหม่ ๆ ที่คาดว่าจะมีบทบาทมากขึ้นในอนาคต เช่น เครื่องมือการระดมทุนผ่านคราวด์ฟันดิง (crowdfunding) และ Real Estate-backed ICO ที่ช่วยตอบโจทย์ทั้งในฝั่งของผู้ประกอบการและผู้ลงทุนยุคดิจิทัล 

นอกจากนี้ ภายในงานสัมมนายังมีการนำเสนองานวิจัยเชิงนโยบายตลาดทุนที่ได้รับการคัดเลือก 3 ผลงานวิจัย ดังนี้ 

  1) ผลงานวิจัยหัวข้อ “The Influence of Digital Transformation Information Disclosure on Firm Value: Empirical Evidence from Listed Firms on The Stock Exchange of Thailand” นำเสนอโดยอาจารย์สมพงค์ พรมสะอาด มหาวิทยาลัยทักษิณ และได้รับเกียรติจาก ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เป็นผู้วิจารณ์ผลงาน โดยงานวิจัยชิ้นนี้มุ่งเน้นการศึกษาเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ดิจิทัล ผลการศึกษาพบว่าการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมทางดิจิทัลได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอุตสาหกรรมที่มีการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมทางดิจิทัลสูงสุดคือ บริการทางการเงิน 

  2) ผลงานวิจัยหัวข้อ “การศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายตลาดทุนอิสลามในประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ สหราชอาณาจักร” นำเสนอโดยศาสตราจารย์ ดร.ซาการียา หะมะ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี และได้รับเกียรติจาก คุณวีระ วุฒิคงศิริกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้วิจารณ์ผลงาน โดยงานวิจัยชิ้นนี้เป็นการศึกษาเชิงเปรียบเทียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับศุกูกและกองทุนอิสลาม เพื่อเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนอิสลามที่สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย โดยมีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจคือการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกองทุนรวมอิสลามที่สอดคล้องกับหลักชะรีอะฮฺ รวมถึงการพัฒนาและสร้างระบบนิเวศที่ครบวงจรในการพัฒนาตลาดทุนอิสลาม

  และ 3) ผลงานวิจัยหัวข้อ “The Impact of Corporate Social and Environmental Responsibility (CSER) on Financial Performance of Listed Companies in Thailand” นำเสนอโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปานแก้วตา ลัคนาวานิช มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และได้รับเกียรติจาก ดร.พิมลวรรณ ชยพรกุล Technical Director 

บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ สอบบัญชี จํากัด เป็นผู้วิจารณ์ผลงาน งานวิจัยชิ้นนี้ทำการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของความรับผิดชอบของสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร (CSER) ที่มีต่อผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนไทย โดยวัดจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ (1) ค่าใช้จ่ายด้าน CSER (2) จำนวนรางวัลที่ได้รับ และ (3) ผลการดำเนินงานของกิจการ ผลการศึกษาในหัวข้อนี้เน้นย้ำว่า บริษัทควรให้ความสำคัญในการดำเนินการด้าน CSER เพราะท้ายที่สุด CSER จะส่งผลบวกต่อผลการดำเนินงานของกิจการ

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถรับชมวิดีโอการสัมมนา SEC Capital Market Regional Seminar 2021 ได้ที่เฟซบุ๊ก “สำนักงาน กลต.” และดูรายละเอียดงานพร้อมดาวน์โหลดเอกสารประกอบการสัมมนาและงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่ https://www.sec.or.th/TH/Pages/MarketData/seminar-documents.aspx#seminar17072564    

____________________________







ข่าวในหมวดเดียวกัน

4 องค์กรรัฐและเอกชน ร่วมลงนาม MOU ผนึกกำลังยกระดับความรู้ทางการเงินให้ผู้ส่งต่อความรู้ในระบบการศึกษา
คณะกรรมการ ก.ล.ต. และคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ หารือร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนการทำงานสอดรับตามแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ปี 2568-2570
ก.ล.ต. เปิดรับฟังความเห็นร่างกฎหมาย 4 ฉบับ เพื่อส่งเสริมตลาดทุนดิจิทัลและเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลตลาดทุน
ก.ล.ต. เตรียมปรับเกณฑ์รองรับ leveraged และ inverse ETFs เพิ่มผลิตภัณฑ์ลงทุนที่หลากหลาย
ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อเตรียมยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนตามมาตรฐาน ISSB ทัดเทียมระดับสากล