Sign In
ข่าว ก.ล.ต.

กระทรวงอุดมศึกษาฯ กอช. ก.ล.ต. ผนึกกำลัง มุ่งพัฒนาทักษะชีวิตแก่ นิสิต นักศึกษา บริหารจัดการเงินเพื่ออนาคต



วันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม 2564 | ฉบับที่ 154 / 2564


กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดงานพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือผ่านระบบประชุมทางไกล (Video Conference) พร้อมส่งเสริมการออมให้นิสิต นักศึกษา บุคคลากรในสถานศึกษาได้เข้าใจการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล (personal financial planning) บริหารจัดการเงิน ทั้งการออม การลงทุน การเพิ่มทรัพย์สินอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลเพื่ออนาคตอย่างยั่งยืน

วันนี้ (16 สิงหาคม 2564) ได้มีการจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ผ่านระบบประชุมทางไกล (Video Conference) การส่งเสริมการออมระหว่าง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับเกียรติจาก นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นสักขีพยานและมอบนโยบาย โดยมีนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ ศาสตราจารย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ซึ่งในกิจกรรมงานวันนี้ได้มีอธิการบดี และคณะผู้บริหารในแต่ละสถานศึกษากว่า 174 แห่งทั่วประเทศ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เข้าร่วมขานรับนโยบายและฟังการเสวนาผ่านระบบประชุมทางไกล (Video Conference) เพื่อนำข้อมูลความรู้ต่างๆ ไปถ่ายทอดต่อในสถานศึกษาของตนเองต่อไป

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กับกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในครั้งนี้ เป็นการยกระดับการทำงานร่วมกันของทั้ง 3 หน่วยงาน ในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการวางแผนทางการเงินให้แก่เยาวชนรุ่นใหม่ ในกลุ่มนิสิต นักศึกษา ผ่านสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ได้รู้จักวางแผนทางการเงิน และการออมเงิน ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา ก่อนเริ่มต้นชีวิตการทำงาน พร้อมทั้งสามารถวางแผนการลงทุน บริหารสินทรัพย์ ให้งอกเงยในรูปแบบที่เหมาะสมกับตัวเอง เท่าทันภัยทางการเงินและสามารถให้ข้อมูล ความรู้ แนะนำผู้อื่นได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และสภาพแวดล้อม ให้เป็นประชากรที่มีคุณภาพ สามารถพึ่งตนเอง ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ตระหนักถึงการออมเพื่ออนาคต สร้างหลักประกัน และความมั่นคงในการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ

กอช. ในฐานะหน่วยงานส่งเสริมให้ประชาชนออมเงินเพื่ออนาคต สร้างเงินออม บริหารจัดการเงินออมให้เหมาะสม เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนวัยเกษียณ ออมระยะยาวด้วยจำนวนเงินน้อยๆ ก็สามารถสร้างความมั่นคงในชีวิต การวางแผนทางการเงินถือเป็นรากฐานสำคัญของการดำเนินชีวิต หากนิสิต นักศึกษา นำความรู้ที่ได้รับ มาประยุกษ์ใช้ในชีวิตประจำวัน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงริเริ่มที่จะช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน โดยการทำบัญชีครัวเรือน การบันทึกรายรับ-รายจ่าย ที่เกิดขึ้นในครัวเรือน และให้มีการจัดสรรรายได้ส่วนหนึ่งออมไว้ใช้จ่ายในยามฉุกเฉินและยามเกษียณเพื่ออนาคตของตนเอง

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการส่งเสริมการออม ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กับกองทุนการออมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โครงการที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นโครงการที่ดีและมีประโยชน์อย่างยิ่งที่ได้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างกันของหน่วยงานหลักที่เป็นภาคีเครือข่ายชั้นนำของประเทศด้านการออม และการลงทุนของภาครัฐ ที่จะเข้ามาช่วยให้ความรู้และส่งเสริมวินัยด้านการออมและการวางแผนทางการเงิน เพื่อสร้างความมั่งคงให้กับชีวิตในอนาคตให้แก่นิสิต นักศึกษา และบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งประโยชน์ของการออมนั้นมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเก็บเงินออมไว้เป็นค่าใช้จ่ายสำรองที่จำเป็นต้องใช้ตามโอกาส การสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉินหรือเมื่อเกิดเหตุไม่คาดคิด รวมถึงการออมไว้ใช้ในบั้นปลายของชีวิต 

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าในสถานการณ์ปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบปัญหาทางด้านวิกฤตเศรษฐกิจอันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในด้านเศรษฐกิจและสังคมกับประชาชนทุกระดับ ซึ่งเราคงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในสถานการณ์ปัจจุบันย่อมส่งผลกระทบต่ออาชีพและรายได้ ปัญหาการว่างงาน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไทยมีเงินออมน้อยลง และไม่มีแรงจูงใจในการออมเงินและ การลงทุนมากนัก ซึ่งหากเรามองเรื่องปัญหาด้านการออมของคนไทย เราจะพบว่าปัญหาเกิดจากคนไทย ส่วนใหญ่มีรายได้ต่ำ ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร ไม่มีความมั่นคงทางอาชีพ จึงมีรายได้น้อย และไม่แน่นอน รวมทั้งประชาชนยังขาดความรู้เรื่องการออมและการลงทุน ไม่มีความรู้ในการจัดทำบัญชีครัวเรือน ไม่มีการวางแผนการใช้จ่ายอย่างเป็นระบบ ดังนั้น คนที่จะประสบความสำเร็จในงานแต่การเงินแย่ชีวิตจะไม่สมดุล การวางเป้าหมายทางการเงินจะต้องมีการลงมือออมโดยไร้เป้าหมาย จึงเป็นการยากที่จะสัมฤทธิ์ผล คนที่ประสบความสำเร็จในการออมและการลงทุน เขาจะตั้งเป้าหมายชัดเจนว่าควรจะออมเท่าไหร่ และนำเงินออมไปลงทุนเท่าไหร่ ซึ่งการลงทุนไม่ใช่หวังแค่ผลกำไรเท่านั้น แต่การลงทุนในรูปแบบการออมสะสมจะเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มความมั่นคงทางการเงินในอนาคตให้กับเราได้ การเรียนรู้และศึกษาการต่อยอดทางการเงินจึงเป็นเรื่องที่ควรจะให้ความสำคัญ จึงอยากสนับสนุนและฝากให้สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งช่วยกันผลักดันและส่งเสริมการปลูกฝังวินัยด้านการออมและการวางแผนทางการเงินให้แก่นิสิต นักศึกษา และบุคลากรในสถาบันของท่าน ให้ได้เรียนรู้และเห็นถึงความสำคัญของประโยชน์จากการออมเพื่อชีวิตที่ดีใน อนาคต 

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ  ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ กล่าวว่า กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. เป็นกองทุนบำนาญพื้นฐานภาคประชาชน เปิดดำเนินการกองทุนครั้งแรก      เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2558 ซึ่งในปี พ.ศ. 2564 นี้ กอช. ดำเนินงานมาครบรอบ 6 ปี ในการดูแลแรงงานนอกระบบ สำหรับคนไทยทุกคน ตั้งแต่วัยเรียนอายุ 15 ปี จนเริ่มวัยทำงานถึงอายุ 60 ปี เพื่อเตรียมความพร้อมทางการเงินในอนาคต โดยให้ประชาชนเกิดความตระหนัก สร้างความตระหนักในการวางแผนชีวิต และได้รับสิทธิรับบำนาญการออมกับ กอช. เพื่อได้มีเงินใช้จ่ายในการดำรงชีวิตหลังอายุ 60 ปี เป็นรายเดือน โดยการสมัครออมเงินเริ่มต้นเพียง 50 บาท สูงสุด 13,200 บาทต่อปี ได้เงินสมทบเพิ่มตามช่วงอายุของสมาชิก

อายุ 15 – 30 ปี รัฐสมทบให้ 50% ของเงินออมสะสมสูงสุด 600 บาทต่อปี 

อายุ >30 – 50 ปี รัฐสมทบให้ 80% ของเงินออมสะสมสูงสุด 960 บาทต่อปี 

อายุ >50 – 60 ปี รัฐสมทบให้ 100% ของเงินออมสะสมสูงสุด 1,200 บาทต่อปี

สำหรับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริมและพัฒนา ตลอดจนกำกับดูแลตลาดทุน อาทิ การระดมทุน สินค้าและบริการ ผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง การกระทำอันไม่เป็นธรรมในตลาดทุน  เพื่อให้ตลาดทุน เป็นกลไกหลักในการรวบรวม จัดสรร ติดตามดูแลการใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ โดยทำหน้าที่เชื่อมโยงและเคลื่อนย้ายเงินทุน ระหว่างกิจการที่ต้องการเงินทุน  ทั้งภาครัฐและเอกชนและผู้ออมเงินที่ต้องการลงทุน ทำให้มีทางเลือกในการระดมทุนและลงทุนมากขึ้น เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพ และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สนับสนุนกิจการให้เติบโต กระจายความเสี่ยงและสร้างความสมดุลของระบบการเงินโดยรวม และเป็นองค์กรกำกับหลักของตลาดทุนในการเกื้อหนุนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยการบูรณาการความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน เพื่อสนับสนุนองค์ความรู้การวางแผนการออมเงิน การลงทุน และภัยกลโกงจากการลงทุน ร่วมกันระหว่าง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กำกับสถานศึกษาที่ดูแลและให้แนวทางความรู้ต่างๆ แก่กลุ่มนิสิต นักศึกษา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจส่วนหนึ่งในการให้ความรู้ คำแนะนำเกี่ยวกับการเงินการลงทุน ส่วนกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เป็นหน่วยที่ส่งเสริมความรู้ด้านการออม เพื่อส่งเสริมให้เยาวชน นิสิต นักศึกษา ได้มีความรู้ด้านการวางแผนการเงิน การออม การลงทุน การเพิ่มทรัพย์สินอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผล เป็นผู้ที่ได้เปรียบกว่าผู้อื่น พร้อมถึงการเตรียมความพร้อมก้าวเข้าสู่วัยทำงานที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีและยังสามารถให้คำแนะนำผู้อื่นได้ด้วย ถึงแม้กลุ่มนิสิต นักศึกษา จะเข้าสู่วัยทำงานได้รับสวัสดิการจากหน่วยงานแล้ว ยังสามารถออมเงินกับ กอช. ต่อได้อย่างต่อเนื่อง โดยสิทธิในการเป็นสมาชิก กอช. ยังคงอยู่ นับเป็นการวางแผนการออมได้หลายช่องทางเพื่ออนาคตที่ดี

ศาสตราจารย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  กล่าวว่า  พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เกิดขึ้นจากการเห็นพ้องร่วมกันถึงประโยชน์ และความสำคัญของการส่งเสริมการออมและการวางแผนทางการเงินที่ดี กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เล็งเห็นถึงความสำคัญของประโยชน์ที่นิสิต นักศึกษา และบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาจะได้รับจากความร่วมมือระหว่างกัน จึงได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนงานในส่วนของกระทรวงฯ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของภารกิจ คือ ๑. สนับสนุนให้นิสิต นักศึกษา และบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาให้ความสำคัญเกี่ยวกับการออม โดยการส่งเสริมให้เกิดองค์ความรู้ด้านการวางแผนทางการเงินและการลงทุน และสนับสนุนให้ สถาบันอุดมศึกษาได้บรรจุเนื้อหาการวางแผนทางการเงิน และการลงทุนในวิชาศึกษาทั่วไป General Education (GenEd) ๒. ส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษาจัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์และเชิญชวนให้นิสิต นักศึกษา และบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาที่ยังไม่มีสิทธิและสวัสดิการเรื่อง บำเหน็จบำนาญ เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการออมและการวางแผนทางการเงิน เพื่อประโยชน์ในอนาคต ๓. สนับสนุนการประชาสัมพันธ์และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของกองทุนการออมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ผ่านช่องทางประชาสัมพันธ์ ต่าง ๆ ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ๔. สนับสนุนการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดโครงการ/กิจกรรม อาทิ การเป็นวิทยากรการออกนิทรรศการ เพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมของ ๒ หน่วยงาน ให้แก่ผู้บริหาร นิสิต นักศึกษา และบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาต่อไป

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีความร่วมมือเรื่อง “การส่งเสริมการออม” กับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) โดย ก.ล.ต. จะสนับสนุนการทำประชาสัมพันธ์และการจัดกิจกรรมพร้อมวิทยากรในการส่งเสริมความรู้ด้านการเงิน การลงทุน และภัยกลโกง รวมถึงสนับสนุนงานด้านวิชาการและการถ่ายทอดองค์ความรู้ในเรื่องดังกล่าว เพื่อขอให้สถาบันการศึกษาบรรจุเนื้อหาในวิชาศึกษาทั่วไป (General Education) ซึ่งการลงนามความร่วมมือครั้งนี้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ที่เน้นให้ความรู้ทางการเงินกับทุกกลุ่มเป้าหมาย และถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือกันในการขับเคลื่อนภารกิจส่งเสริมการออมอย่างเป็นรูปธรรม สำหรับนิสิต นักศึกษาที่จะเป็นกำลังสำคัญของชาติ การปลูกฝังนิสัยรักการออมและทักษะการบริหารจัดการเงินที่ดีควรเริ่มฝึกฝนตั้งแต่ยังเป็นเยาวชน รวมทั้งการวางแผนทางการเงินที่ดี โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่ง ก.ล.ต. ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมความรู้ทางการเงินให้กับนิสิต นักศึกษา และบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาในสังกัด อว. เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในการต่อยอดเงินออมให้งอกเงย และสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาวโดยผ่านตลาดทุนซึ่งมีผลิตภัณฑ์หลากหลาย ที่สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงของแต่ละบุคคล ก.ล.ต. จะจัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องการออมและการลงทุนร่วมกับ กอช. ตามแผนงานที่วางไว้ และจะเริ่มดำเนินการให้ความรู้ได้ทันทีที่ อว. ได้คัดเลือกสถาบันการศึกษาที่จะให้เข้ารับการอบรม

****************************






ข่าวในหมวดเดียวกัน

ก.ล.ต. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดเก็บหลักฐานเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
ก.ล.ต. เปิดรับฟังความเห็นปรับปรุงหลักเกณฑ์การนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ และหลักเกณฑ์รองรับโครงการ Sandbox ของ ธปท.
ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแล
ก.ล.ต. เดินหน้าผลักดันการลงทุนอย่างยั่งยืนและการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศของกองทุน เน้นย้ำให้ระดับบริหารของ บลจ. ขับเคลื่อนการนำ ESG ไปปฏิบัติจริง
ก.ล.ต. เข้าร่วมเป็นสมาชิก ASEAN Taxonomy Board จัดทำมาตรฐานและเกณฑ์การจัดหมวดหมู่ด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนอาเซียน