สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกประกาศปรับปรุงเกณฑ์เกี่ยวกับการรับคำสั่งซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนนอกสถานที่ทำการให้รวมถึงการปฏิบัติงานจากที่บ้านได้ สำหรับผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ตามแนวทาง Regulatory Guillotine* เพื่อลดภาระ อำนวยความสะดวก เพิ่มความยืดหยุ่นในการประกอบธุรกิจ และรองรับความปกติใหม่
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจำเป็นต้องให้พนักงานปฏิบัติงานจากที่บ้าน (Work from Home) โดยจัดให้มีระบบงานและเทคโนโลยีสารสนเทศที่รองรับการปฏิบัติงานจากที่บ้าน ซึ่งที่ผ่านมาหลักเกณฑ์ที่มีอยู่สามารถรองรับให้พนักงานของผู้ประกอบธุรกิจปฏิบัติงานจากที่บ้านได้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ส่วนถ้าเป็นสถานการณ์ปกติต้องขออนุญาตจาก ก.ล.ต. เป็นรายกรณีก่อนดำเนินการ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบธุรกิจได้มีข้อเสนอให้มีความชัดเจนเกี่ยวกับระบบงานที่ต้องจัดให้มีความพร้อม และลดขั้นตอนในการยื่นคำขอรับอนุญาตในการให้พนักงานสามารถปฏิบัติงานรับคำสั่งซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนนอกสถานที่ทำการซึ่งรวมถึงการปฏิบัติงานจากที่บ้านได้ เพื่อรองรับความปกติใหม่ (New Normal) ก.ล.ต. จึงดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นหลักการและร่างประกาศ และได้นำความคิดเห็นต่าง ๆ มาปรับปรุงหลักเกณฑ์ ตลอดจนออกประกาศ โดยจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นไป
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “การปรับปรุงเกณฑ์เกี่ยวกับการรับคำสั่งซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนนอกสถานที่ทำการสำหรับผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในครั้งนี้ มุ่งที่จะช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการให้บริการแก่ผู้ลงทุน และรองรับการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ในขณะเดียวกัน ก.ล.ต. ยังคงให้ความสำคัญและกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องมีมาตรการดูแลประโยชน์และข้อมูลของลูกค้าอย่างเพียงพอ โดยต้องจัดให้มีระบบงานและการควบคุมความเสี่ยงที่เพียงพอและเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรักษาความลับเกี่ยวกับข้อมูลการซื้อขายของลูกค้าและความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าการให้บริการในที่ทำการด้วย”
__________________________
หมายเหตุ :
*Regulatory Guillotine คือ การทบทวนกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน โดยใช้วิธีที่รวดเร็ว โปร่งใส ใช้ต้นทุนต่ำ และมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง