สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีแนวคิดทบทวนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลในหนังสือชี้ชวนของกองทุนรวม (หนังสือชี้ชวน) ซึ่งประกอบด้วย หนังสือชี้ชวนส่วนข้อมูลกองทุนรวม (ชี้ชวนฉบับเต็ม) และหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ (factsheet) โดย ก.ล.ต. ได้สำรวจความคิดเห็นผู้ลงทุนและพบว่าส่วนใหญ่ใช้ factsheet ประกอบการตัดสินใจลงทุน แต่เห็นว่าข้อมูลบางส่วนมีความซับซ้อนและยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากหนังสือชี้ชวนฉบับเต็มเท่าที่ควร
ก.ล.ต. จึงได้หารือร่วมกับภาคธุรกิจเพื่อปรับปรุงรูปแบบ เนื้อหา และรอบการปรับปรุงข้อมูลในหนังสือชี้ชวน โดยผู้ที่เกี่ยวข้องได้เห็นชอบร่วมกันในการปรับปรุงหนังสือชี้ชวนให้มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการตัดสินใจลงทุนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งลดภาระของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ในการจัดทำข้อมูลในส่วนที่ไม่จำเป็น แต่ยังคงไว้ซึ่งหลักการให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายใต้โครงการ Simplified Disclosure ระยะที่ 2 และเป็นหนึ่งในโครงการ Regulatory Guillotine
ก.ล.ต. จึงเสนอหลักการและยกร่างประกาศที่เกี่ยวข้องจำนวน 3 ฉบับ รวมทั้งจัดทำ factsheet รูปแบบใหม่ โดยมีการปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันทุกเดือน รวมทั้งปรับปรุงรายการข้อมูลในหนังสือชี้ชวนฉบับเต็มให้กระชับ มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ก.ล.ต. จะปรับปรุงระบบอนุมัติจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม (Online Fund Approval and Management System) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ บลจ. ในการนำส่ง factsheet รายเดือน ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว สามารถรองรับการนำส่งข้อมูลของหลายกองทุนได้ในคราวเดียวกัน ทั้งนี้ คาดว่าประกาศจะแล้วเสร็จในไตรมาส 4 ปี 2564 และสามารถเปิดให้ บลจ. นำส่ง factsheet ในระบบใหม่ได้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป
ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวไว้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=751 ผู้เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail: pheangna@sec.or.th หรือ supisara@sec.or.th จนถึงวันที่ 18 ตุลาคม 2564
_________________________
*Regulatory Guillotine คือ การทบทวนกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชนโดยใช้วิธีที่รวดเร็ว โปร่งใส ใช้ต้นทุนต่ำ และมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง