Sign In
ข่าว ก.ล.ต.

ก.ล.ต. จัดประชุมร่วมกับประธานกรรมการตรวจสอบและกรรมการตรวจสอบของบริษัทจดทะเบียนเพื่อส่งเสริมคุณภาพการกำกับดูแลกิจการและคุณภาพรายงานทางการเงิน



วันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน 2564 | ฉบับที่ 215 / 2564


สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดประชุมออนไลน์ เพื่อสื่อสารบทบาทหน้าที่ของกรรมการตรวจสอบในการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลคุณภาพของการจัดทำรายงานทางการเงิน เพื่อยกระดับคุณภาพการกำกับดูแลกิจการและคุณภาพรายงานทางการเงินให้ดียิ่งขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่า 600 ราย จาก 400 บริษัทจดทะเบียน เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “กรรมการตรวจสอบของบริษัทจดทะเบียนถือเป็นผู้แทนของผู้ลงทุนรายย่อยและเป็นผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholders) ที่สำคัญในระบบนิเวศของการรายงานทางการเงิน (financial reporting ecosystem) ที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้รายงานทางการเงินของบริษัทจดทะเบียนมีคุณภาพอย่างยั่งยืน และยังมีส่วนช่วยในการป้องปรามมิให้เกิดการทุจริต ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ร่วมมือกับสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ในการสนับสนุนให้กรรมการตรวจสอบทำงานร่วมกับผู้สอบบัญชีอย่างใกล้ชิด และ
ได้เผยแพร่แนวทางที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวให้กรรมการตรวจสอบนำไปใช้ รวมทั้งได้จัดงานสัมมนาให้ความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรรมการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง”

ในการประชุมครั้งนี้มีเลขาธิการ ก.ล.ต.
 กล่าวเปิดงาน นางสิริวิภา สุพรรณธเนศ รองเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ ความสำคัญของกรรมการตรวจสอบต่อตลาดทุนและบทบาทหน้าที่ของกรรมการตรวจสอบในการกำกับดูแลกิจการที่ดี นายธวัชชัย เกียรติกวานกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. และนางอภิชยา ฟอลเล็ต ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับการสอบบัญชี บรรยายหัวข้อ การดูแลคุณภาพของการจัดทำรายงานทางการเงิน และนายทรงยศ บรรจงมณี ผู้อำนวยการฝ่ายจดทะเบียนหลักทรัพย์ 3 บรรยายหัวข้อ การเปิดเผยรายงานคณะกรรมการตรวจสอบใน One report”

ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของบทบาทหน้าที่ของกรรมการตรวจสอบในการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลคุณภาพของการจัดทำรายงานทางการเงิน การคัดเลือกผู้สอบบัญชีที่มีคุณภาพและการสื่อสารกับผู้สอบบัญชีอย่างเพียงพอ การให้ข้อมูลและเทคนิคที่เป็นประโยชน์ในการพิจารณาคัดเลือกผู้สอบบัญชีที่มีคุณภาพ และแนวทางการสื่อสารกับผู้สอบบัญชี รวมถึงกลไกและเครื่องมือในปัจจุบันที่กรรมการตรวจสอบสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพการกำกับดูแลกิจการและคุณภาพรายงานทางการเงินให้ดียิ่งขึ้น โดยมีสาระครอบคลุมในประเด็นสำคัญ เช่น

·  การผลักดันให้ฝ่ายบริหาร (tone at the top) ของบริษัทจดทะเบียนให้ความสำคัญในเรื่องการจัดทำรายงานทางการเงิน และสนับสนุนทรัพยากรด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเพียงพอ เช่น กำหนด Key Performance Indicators (KPIs) ของฝ่ายบริหารให้เชื่อมโยงกับคุณภาพของรายงานทางการเงิน และการจัดสรรงบประมาณลงทุนในทรัพยากรด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายงานบัญชี ทั้งในส่วนของทรัพยากรบุคคล ระบบบัญชี ระบบการควบคุมภายในและเครื่องมือที่เกี่ยวข้องอย่างเพียงพอ เพื่อให้บริษัทสามารถจัดทำรายงานทางการเงินที่มีคุณภาพได้

·  การจัดให้มีระบบการควบคุมภายในที่ดี หน่วยงานตรวจสอบภายในที่มีคุณภาพ รวมทั้งติดตามดูแลให้บริษัทมีระบบการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อช่วยป้องปรามมิให้เกิดข้อผิดพลาด และลดความเสี่ยงในการจัดทำรายงานทางการเงินที่ไม่ถูกต้อง

·  การคัดเลือกผู้สอบบัญชีที่มีคุณภาพและความเชี่ยวชาญ โดยพิจารณาปัจจัยเชิงคุณภาพมากกว่าปัจจัยด้านราคา และการกำหนดค่าสอบบัญชีในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้มั่นใจว่าผู้สอบบัญชีจะจัดสรรทรัพยากรและจำนวนชั่วโมงการปฏิบัติงานให้เพียงพอที่จะปฏิบัติงานสอบบัญชีได้อย่างมีคุณภาพ

·  การให้การสนับสนุนและทำงานร่วมกับผู้สอบบัญชีอย่างใกล้ชิด โดยสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้สอบบัญชีและให้เวลาในการประชุมร่วมกับผู้สอบบัญชีอย่างเพียงพอ

 

ผู้ที่สนใจสามารถอ่านเอกสารประกอบการประชุมได้ที่ลิงก์ https://www.sec.or.th/TH/Pages/MarketData/seminar-documents.aspx ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะจัดงานสัมมนาเพื่อเผยแพร่ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อกรรมการตรวจสอบและผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศในการจัดทำรายงาน
ทางการเงินต่อไป

 








ข่าวในหมวดเดียวกัน

ก.ล.ต. แจ้งให้ NRF ให้ความร่วมมือแก่ผู้สอบบัญชีและนำส่งงบการเงินฉบับแก้ไข
ก.ล.ต. ปรับปรุงหลักเกณฑ์กําหนดจำนวนขั้นต่ำ “ผู้สอบบัญชีในตลาดทุน” เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับสำนักงานสอบบัญชีในตลาดทุน
ก.ล.ต. แจ้งความคืบหน้าการดำเนินโครงการ “บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์เข้มแข็ง” และการบังคับใช้กฎหมาย
ก.ล.ต. เปิดรับฟังความเห็นการกําหนดจำนวนขั้นต่ำ “ผู้สอบบัญชีในตลาดทุน” เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับสำนักงานสอบบัญชีในตลาดทุน
ก.ล.ต. เปิดรับฟังความเห็นการยกระดับการกำกับดูแลและการตรวจสอบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของสํานักงานสอบบัญชีในตลาดทุน