สืบเนื่องจากโครงการ Sustainable Thailand 2021 ซึ่งผู้ลงทุนสถาบันและธนาคารได้ร่วมลงนามประกาศเจตจำนง ‘Sustainable Thailand’ ในการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบบนหลักการลงทุนแห่งความยั่งยืน ที่ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ การจัดงานสัมมนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นเจ้าของสินทรัพย์ (Asset Owner) ผู้จัดการกองทุน (Investment Manager) และผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน (Professional Service Provider) รู้จักและเข้าใจหลักการลงทุนที่รับผิดชอบตาม PRI* และกระตุ้นความสนใจให้เข้าร่วมเป็นผู้ร่วมลงนาม (signatories) ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบธุรกิจไทยคำนึงถึงการลงทุนอย่างมีธรรมาภิบาล รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดผลกระทบเชิงลบและสร้างผลลัพธ์เชิงบวก ส่งผลให้ประเทศไทยมีการพัฒนาด้านความยั่งยืน (sustainability) อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ซึ่งการสัมมนาได้รับเกียรติจากวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญจาก PRI บริษัทจัดการกองทุนต่างประเทศ และ กบข. มาแบ่งปันประสบการณ์จากการเป็น PRI signatories และแลกเปลี่ยนมุมมองการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 300 คน
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “ก.ล.ต. มีภารกิจสำคัญในการพัฒนาตลาดทุนที่ยั่งยืนและสร้างระบบนิเวศของตลาดทุนให้เข้มแข็งตอบโจทย์ทุกภาคส่วน โดยบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนและผู้ที่เกี่ยวข้องมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนและขับเคลื่อนร่วมกัน และเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจไทยคำนึงถึงการลงทุนที่รับผิดชอบ ภายใต้ Principles for Responsible Investment (PRI) ซึ่งเป็นหลักการที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ ก.ล.ต. จึงสนับสนุนให้เจ้าของสินทรัพย์ ผู้จัดการกองทุน และผู้ให้บริการในแวดวงการลงทุน ร่วมลงนามเป็น signatories เพื่อเป็นการแสดงพลังสนับสนุนและความมุ่งมั่นของผู้ประกอบธุรกิจต่อการพัฒนาตลาดทุนที่ยั่งยืน ทั้งนี้ การนำหลักการภายใต้ PRI ไปใช้จะช่วยทำให้เป้าหมายของภาคธุรกิจและสังคมมีความสอดคล้องกันมากขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันสำคัญสำหรับภาคธุรกิจในการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการเติบโตที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมายการใช้พลังงานสะอาดและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2065 ซึ่งการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวจะต้องจริงจังและต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนทั่วไป และต้องขอขอบคุณองค์การสหประชาชาติ PRI กบข. และ AIMC ที่ร่วมจัดงานและผลักดันวาระนี้ร่วมกัน”
Ms. Gita Sabharwal, United Nations Resident Coordinator in Thailand กล่าวว่า “มีบทพิสูจน์ให้เห็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าการลงทุนอย่างยั่งยืนคือแนวทางการลงทุนที่ชาญฉลาด และสมควรยกระดับให้เป็นมากกว่าแค่โครงการนำร่อง ทั้งนี้ การนำ Principles for Responsible Investment เข้ามาประกอบการพิจารณาการตัดสินใจในภาคการธนาคารและการลงทุนในวงกว้างขึ้น จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงและเป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตอย่างทั่วถึง โดยองค์การสหประชาชาติพร้อมจะเป็นพันธมิตรสนับสนุนผู้มีส่วนร่วมในตลาดทุนไทยในการมุ่งสู่ความยั่งยืนมากขึ้น”
Mr. James Robertson, Head of Asia (ex-China & Japan), PRI กล่าวว่า “PRI รู้สึกเป็นเกียรติในการเป็นเจ้าภาพในการจัดงานสัมมนาออนไลน์ร่วมกับ ก.ล.ต. และพันธมิตรที่ทรงเกียรติ รวมทั้งมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่งานสัมมนาที่จัดขึ้นในครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากผู้มีส่วนร่วมในตลาดทุนไทย โดย PRI หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีโอกาสร่วมมือกับ ก.ล.ต. และหน่วยงานพันธมิตร ในการแบ่งปันความรู้ และเสริมสร้างทักษะเกี่ยวกับการลงทุนที่รับผิดชอบ ภายใต้ Principles for Responsible Investment ให้แก่ประกอบธุรกิจในตลาดทุนไทยในอนาคต ซึ่งจะเป็นการช่วยยกระดับการลงทุนที่ยั่งยืนและมีความรับผิดชอบในประเทศไทยต่อไป”
ดร. ศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวว่า “กบข. ในฐานะนักลงทุนสถาบันไทยที่ตระหนักถึงความสำคัญและส่งเสริมการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ (Sustainable Finance) ของภาคสถาบันนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง มุ่งผลักดันและขยายผลการบูรณาการกรอบการลงทุนอย่างยั่งยืน ครอบคลุมการดำเนินงานในทุกมิติภายใต้กรอบ PRI โดยงานสัมมนาในครั้งนี้เป็นพันธกิจสืบเนื่องต่อจากโครงการ Sustainable Thailand 2021 เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในหลักการลงทุนที่รับผิดชอบ อันเป็นกลไกสำคัญสู่การบรรลุเป้าหมายสร้างความแข็งแกร่งของภาคการเงินการลงทุนไทยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งในปี 2565 กบข. ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์สู่การเป็น Sustainable Pension โดยตั้งเป้าหมายกำหนดเกณฑ์วัดผลเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ นำไปสู่การวิเคราะห์ผลการลงทุนในธุรกิจ ESG พร้อมทั้งจัดทำและเผยแพร่รายงานแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ท้ายนี้ ขอขอบคุณ ก.ล.ต. องค์การสหประชาชาติ PRI และ AIMC ตลอดจนทุกภาคส่วนที่ร่วมกันสนับสนุนการขับเคลื่อนพัฒนาการเงินการลงทุนไทยสู่ความยั่งยืนในระดับภูมิภาคและระดับโลกสืบไป”
นายวศิน วณิชย์วรนันต์ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) กล่าวว่า “หลักการลงทุนที่รับผิดชอบที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ จะช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุนมีกรอบการทำงานด้าน ESG ในทิศทางเดียวกัน สร้างแรงผลักดันให้เกิดการลงทุนที่รับผิดชอบ และเสริมสร้างความตระหนักรู้ด้านความยั่งยืนภายในองค์กร ทั้งนี้ สำหรับธุรกิจจัดการกองทุน หลักการดังกล่าวจะช่วยกำหนดความคาดหวังที่กองทุนมีต่อบริษัทที่ลงทุน ทีมผู้จัดการกองทุน และผู้ที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ทั้งนี้ AIMC และบริษัทสมาชิกเห็นถึงความสำคัญและโอกาสในการร่วมมือ เรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และสร้างเครือข่ายกับ signatories อื่น ๆ ที่มีความมุ่งมั่นที่จะช่วยให้ตลาดทุนเกิดความยั่งยืนเช่นเดียวกันต่อไป”
_____________________________
หมายเหตุ:
* PRI เป็นโครงการภายใต้การสนับสนุนขององค์การสหประชาชาติ ที่ให้คำแนะนำเรื่องการนำหลักการลงทุนที่รับผิดชอบมาใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน และการมีส่วนร่วมของผู้ถือหุ้น (ownership practice) โดยสามารถแบ่งผู้ร่วมลงนาม (signatories) ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) Asset Owner (2) Investment Manager และ (3) Professional Service Provider ซึ่งผู้ที่ร่วมลงนามตกลงที่จะให้คำมั่นสัญญาในการปฏิบัติตามหลักการลงทุนที่รับผิดชอบ ทั้ง 6 ประการ ดังนี้
หลักการที่ 1: พึงนำประเด็นด้าน ESG มาประกอบการวิเคราะห์และการตัดสินใจลงทุน
หลักการที่ 2: พึงใช้สิทธิในฐานะผู้ถือหุ้นอย่างจริงจัง และนำประเด็นด้าน ESG เป็นส่วนหนึ่งของการ กำหนดนโยบายและหลักปฏิบัติการใช้สิทธิในฐานะผู้ถือหุ้น
หลักการที่ 3: พึงสนับสนุนให้บริษัทต่าง ๆ ที่เราลงทุน เปิดเผยข้อมูลด้าน ESG
หลักการที่ 4: พึงส่งเสริมประเด็นด้าน ESG ให้เกิดการยอมรับและการปฏิบัติในอุตสาหกรรมการลงทุน
หลักการที่ 5: พึงให้ความร่วมมือในการนำหลักปฏิบัติการลงทุนที่รับผิดชอบมาใช้ปฏิบัติ
หลักการที่ 6: พึงรายงานข้อมูลข่าวสารความคืบหน้าในการดำเนินงานตามหลักปฏิบัติการลงทุนที่รับผิดชอบ