Sign In
ข่าว ก.ล.ต.

ก.ล.ต. จัดงานเสวนาออนไลน์ “วิสัยทัศน์ ความท้าทาย กับก้าวต่อไปของกรรมการหญิง” ส่งเสริมบทบาทสตรีในระดับคณะกรรมการบริษัทเพื่อสนับสนุนพลังสตรีในตลาดทุนไทย



วันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม 2564 | ฉบับที่ 231 / 2564


สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดงานเสวนาออนไลน์ หัวข้อ “วิสัยทัศน์ ความท้าทาย กับก้าวต่อไปของกรรมการหญิง” เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนมุมมองของหน่วยงานในตลาดทุน เพื่อให้บริษัทจดทะเบียน กรรมการและผู้บริหารระดับสูง เห็นความสำคัญของความหลากหลายของคณะกรรมการ โดยเฉพาะบทบาทของกรรมการหญิง (gender diversity) เพื่อนำไปขับเคลื่อนการเสริมสร้างพลังสตรี (women empowerment) ในองค์กรต่อไป เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “การจัดงานเสวนาในครั้งนี้ถือเป็นการขับเคลื่อนต่อเนื่องจากงาน “Women CEO Dialogue” ที่ ก.ล.ต. จัดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2564 เพื่อส่งเสริมบทบาทของสตรีในระดับผู้นำตามแผนการเพิ่มบทบาทสตรีในตลาดทุนไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจของ ก.ล.ต. ในการสร้างระบบนิเวศให้บริษัทจดทะเบียนสามารถผนวกประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) เข้าไปในกระบวนการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติสังคมที่ครอบคลุมเรื่องสิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ในเป้าหมายที่ 5 เกี่ยวกับการบรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศ 

งานเสวนาในครั้งนี้ จึงจัดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักและแสดงถึงความสำคัญของบทบาทผู้นำโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรรมการหญิง ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมการบริษัทถูกคาดหวังให้เป็นผู้นําที่สนับสนุนบริษัทให้มีความสามารถแข่งขันได้ มีผลประกอบการที่ดี รวมถึงมีส่วนในการวางนโยบายเพื่อรับมือกับความท้าทาย เช่น สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ปัญหาโลกร้อน ปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ก.ล.ต. จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเสวนาในครั้งนี้มีส่วนช่วยสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของความหลากหลายทางเพศในระดับคณะกรรมการบริษัท และเป็นประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องในการนำมุมมองหรือประเด็นจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นไปขับเคลื่อนการเสริมสร้างพลังสตรีขององค์กรต่อไป”

ในช่วงการเสวนา นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึงความจำเป็นที่ธุรกิจจะต้องมองรอบด้านในโลกปัจจุบันที่มีความท้าทายมากขึ้น ทั้งจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และแนวโน้มด้านความยั่งยืน ดังนั้น ความหลากหลายทางเพศ หรือ gender diversity ไม่ใช่เฉพาะประเด็นกรรมการหญิงและกรรมการชาย แต่เป็นเรื่องการมีหลากหลายมุมมองที่ช่วยทำให้เห็นแนวคิดใหม่ ส่งผลต่อการตัดสินใจของคณะกรรมการ และตอบโจทย์ผู้มีส่วนได้เสียได้ สอดรับกับมุมมองของ นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ กรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ที่เห็นว่า ความท้าทายในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้นคือ ผลกระทบของ COVID-19 ซึ่งส่งผลต่อการปรับตัวขององค์กร และในระยะยาวคือปัญหา Disruptive Technology ที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น องค์กรต้องมุ่งเน้นไม่ใช่เฉพาะเรื่องผลกำไร แต่รวมถึงผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งการเปลี่ยน mindset ของทุกองคาพยพในองค์กร 

ในมุมมองของผู้ลงทุนสถาบัน นางชวินดา หาญรัตนกูล อุปนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน และกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เห็นว่า แนวโน้มการลงทุนที่คำนึงถึงปัจจัย ESG มีมากขึ้น และแม้ว่าการกำหนดสัดส่วนกรรมการหญิงจะเป็นแบบสมัครใจในประเทศไทย แต่แนวโน้มการลงทุนที่คำนึงถึงปัจจัยนี้จะได้รับความสำคัญขึ้น ซึ่งหมายความว่า ผู้ลงทุนจะไม่ได้พิจารณาเพียงผลประกอบการของบริษัทเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงมิติความยั่งยืนอื่น ๆ เช่นกัน 

สำหรับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน นายกุลเวช เจนวัฒนวิทย์ กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ได้กล่าวถึงความหลากหลายในองค์ประกอบของคณะกรรมการเป็นปัจจัยสำคัญต่อประสิทธิภาพการทำงานและการเปิดโอกาสอย่างเท่าเทียมในการแสดงความคิดเห็น รวมทั้งบทบาทของ IOD ในการเป็นผู้สนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการทั้งการจัดทำ Directors Pool และการสร้าง Community of Practice  ในขณะที่ นางสาวเพ็ญศรี สุธีรศานต์ เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ได้กล่าวถึงบทบาทของสมาคมในการสนับสนุนการทำงานกรรมการอย่างมืออาชีพ เพื่อให้คณะกรรมการสามารถกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนในองค์กรได้ รวมทั้งบทบาทของเลขานุการบริษัท ที่ช่วยสื่อสารกับคณะกรรมการ ให้เห็นความสำคัญกับความหลากหลายของกรรมการ ซึ่งจะช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพและมีมุมมองหลากหลายมากขึ้น 

นอกจากนี้ นางสาวสิริพร ราธี ผู้จัดการโครงการ WeEmpower Asia ประจำประเทศไทย องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ ได้กล่าวถึงประเด็นความเท่าเทียมทางเพศที่ทำให้เกิดช่องว่างของความไม่เท่าเทียม ซึ่งเป็นผลกระทบจาก COVID-19 และแม้ว่าประเทศไทยจะมีผู้ประกอบการหญิงสูงสุดในอาเซียนและจัดอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับทั่วโลก แต่หากพิจารณาในเชิงลึก ยังคงพบปัญหาความไม่เท่าเทียมระหว่างชายและหญิงที่ต้องแก้ไข เช่น ช่องว่างระหว่างรายได้ ความเหลื่อมล้ำของผลตอบแทน และโอกาสการเลื่อนตำแหน่ง รวมถึงปัญหาความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศ ดังนั้น องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติจึงได้มีโครงการ WeEmpower Asia เพื่อสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ สร้างให้เกิดวัฒนธรรมที่คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างชายและหญิง และส่งเสริมการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้แก่ผู้หญิงในการเจริญเติบโตในภาคธุรกิจต่อไป