สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดงานสัมมนาออนไลน์ หัวข้อ “เตรียมพร้อมเกษียณด้วย PVD และ กบช.” เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และมุมมองเกี่ยวกับการปรับปรุงพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 (พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ) เพื่อให้สอดรับกับร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (พ.ร.บ. กบช.) และเป็นหนึ่งในกองทุนทางเลือกของการออมภาคบังคับ เพื่อให้ลูกจ้างมีเงินออมเพียงพอรองรับการเกษียณอายุ โดยเผยแพร่ผ่านช่องทางเฟซบุ๊กไลฟ์ “เพจสำนักงาน กลต.” ลิงก์ https://www.facebook.com/sec.or.th/videos/640371327388474 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2565
นางสาวรื่นวดี
สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า
“ภาครัฐได้ตระหนักถึงความท้าทายของประเทศในการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Aged
Society) ในปี 2565 ซึ่งมีสัดส่วนผู้สูงวัยมากกว่าร้อยละ
20 ของประชากรในประเทศ โดยส่วนใหญ่ยังขาดความพร้อมทางการเงินรองรับวัยเกษียณ กระทรวงการคลังจึงอยู่ระหว่างเสนอร่าง
พ.ร.บ. กบช. เพื่อเป็นกองทุนการออมภาคบังคับ และให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด
(Qualified PVD) เป็นหนึ่งในกองทุนทางเลือกภายใต้การออมภาคบังคับสำหรับลูกจ้าง
ดังนั้น ก.ล.ต. จึงอยู่ระหว่างปรับปรุง พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ ฉบับปัจจุบันที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อรองรับการออมภาคสมัครใจ
ให้สอดรับกับร่าง พ.ร.บ. กบช. เพื่อช่วยลดภาระให้แก่นายจ้างกว่า 20,000
ราย ที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นสวัสดิการให้แก่ลูกจ้างอยู่แล้ว
สามารถแปลงสภาพกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เป็นส่วนหนึ่งของการออมภาคบังคับได้อย่างราบรื่น
ขณะที่สมาชิกกว่า 2.8 ล้านคน สามารถออมเงินได้อย่างต่อเนื่อง
อันเป็นปัจจัยสำคัญของการมีเงินออมที่เพียงพอรองรับการเกษียณอายุ”
ในงานสัมมนาครั้งนี้
นางศิษฏศรี นาคะศิริ
ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับธุรกิจออกแบบการลงทุนและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก.ล.ต. ได้นำเสนอการปรับปรุง
พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ และกล่าวถึงสาระสำคัญของการเสนอปรับปรุง พ.ร.บ.
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ ว่า เพื่อให้มีคุณสมบัติตามที่ พ.ร.บ. กบช. กำหนด ยกตัวอย่างเช่น
1) การให้ลูกจ้างที่มีอายุตามที่ กบช. กำหนดเป็นสมาชิกกองทุน Qualified PVD (automatic enrollment) และเปิดให้สมาชิกสามารถเลือกออกจากการเป็นสมาชิก Qualified PVD เพื่อลงทุนใน
กบช. ได้
2) การกำหนดอัตราการจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบของ Qualified
PVD ให้เป็นไปตาม
กบช.
3) การกำหนดนโยบายการลงทุนสำหรับสมาชิกที่ไม่สะดวกเลือกนโยบายเอง
ให้สามารถเป็นนโยบาย life path หรือ target date ที่สอดคล้องกับ กบช.
นอกจากนี้ พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ ไม่ได้ผ่านการทบทวนมาเป็นระยะเวลา
6 ปี* และเข้าเงื่อนไขในการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางกฎหมาย ก.ล.ต. จึงได้ทบทวนและเสนอปรับปรุง พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ ไปพร้อมกันในคราวเดียว ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายจนถึงวันที่
25 มกราคม 2565 ผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ลิงก์
https://bit.ly/3Kc8j7p
สำหรับการเสวนา
หัวข้อ “เตรียมพร้อมเกษียณด้วย PVD และ กบช.” ได้รับเกียรติจากวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญทางด้านการออมเพื่อการเกษียณจากหลากหลายองค์กรร่วมเสวนา
นำโดย นางนวพร วิริยานุพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านดุลยภาพการออมและการลงทุน สำนักนโยบายการออมและการลงทุน
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า
“กระทรวงการคลังได้จัดทำนโยบายเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ
โดยได้พิจารณาความเพียงพอของเงินหลังเกษียณและพบว่าลูกจ้างส่วนใหญ่มีเงินออมไม่เพียงพอ
จึงผลักดันให้มีการออมภาคบังคับขึ้นด้วยการเสนอจัดตั้ง กบช.
การมีระบบการออมภาคบังคับทั้งจากการจัดตั้ง กบช. และ Qualified PVD จะทำให้ลูกจ้างออมเงินเพื่อการเกษียณในระดับที่เหมาะสม
ทำให้มีความมั่นคงทางการเงินหลังเกษียณอายุ
ซึ่งคาดว่าจะทำให้ลูกจ้างส่วนใหญ่มีเงินออมเมื่อรวมกับบำนาญประกันสังคมแล้วไม่น้อยกว่า
50% ของรายได้ก่อนเกษียณเพื่อคงระดับคุณภาพชีวิตใกล้เคียงกับก่อนเกษียณ”
รองศาสตราจารย์ ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า
“การยกระดับการออมเพื่อการเกษียณเป็นแบบภาคบังคับจะช่วยสร้างความมั่นคงทางการเงินซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนไทยมีความพร้อมและมีเงินเพียงพอรองรับการเกษียณอายุ
ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เห็นถึงความจำเป็นในการมีเงินเก็บออมไว้ใช้จ่ายในช่วงวิกฤตและในยามฉุกเฉิน
นอกจากนี้ ทุกภาคส่วนควรให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ทางการเงิน
ซึ่งเป็นรากฐานทำให้เกิดความมั่นคงทางการเงิน
ช่วยแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตของคนไทยได้อย่างแท้จริง”
นายธีรนาถ รุจิเมธาภาส อุปนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า “สมาคมฯ
พร้อมให้การสนับสนุนระบบการออมภาคบังคับอย่างเต็มที่ในด้านที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งรวมถึงการให้ความรู้แก่นายจ้าง
เนื่องจากในปัจจุบันนายจ้างที่มีสวัสดิการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีจำนวนไม่มากและลูกจ้างหลายรายยังไม่เห็นความสำคัญของการออมเพื่อการเกษียณ
การจัดตั้ง กบช. และมี Qualified PVD จะช่วยให้นายจ้างเข้าสู่ระบบมากขึ้น
ส่วนลูกจ้าง แม้ว่าจะมีเงินไว้ใช้จ่ายลดลงในปัจจุบัน
แต่เป็นการเพิ่มเงินไว้ใช้หลังเกษียณอายุ
การออมภาคบังคับยังส่งผลดีต่อการพัฒนาธุรกิจจัดการกองทุนอีกด้วย”
นายสุรจิต เจริญยศ กรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
พนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า
“การออมภาคบังคับจะช่วยสร้างความมั่นคงให้แก่ลูกจ้างยามเกษียณอายุ
ซึ่งมีปัจจัยต่าง ๆ ที่จะมีผลให้ลูกจ้างมีเงินออมพอใช้หลังเกษียณหรือไม่ เช่น
กลยุทธ์การลงทุน อัตราการออม และผลตอบแทน ดังนั้น ทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ทางการเงินแก่ลูกจ้างเพื่อให้สามารถเลือกนโยบายการลงทุนและบรรลุเป้าหมายการออม
ทั้งนี้
หากลูกจ้างมีความยืดหยุ่นในการส่งเงินสะสมเข้ากองทุนก็จะช่วยลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการมีการออมภาคบังคับได้”
นางณัฐญา
นิยมานุสร ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า
“เมื่อประเทศไทยมีระบบการออมภาคบังคับ ลูกจ้างจะเลือกเข้า Qualified PVD หรือ กบช.
ก็ได้
ส่งผลให้นายจ้างทั้งที่ไม่มีและมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอาจต้องจัดตั้งหรือปรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปัจจุบันให้เป็น
Qualified PVD หรือนำส่งเงินเข้า กบช.
ตามความประสงค์ของลูกจ้าง ทั้งนี้
คณะกรรมการกองทุนมีบทบาทสำคัญในการให้ความรู้แก่ลูกจ้างและประสานงานกับบริษัทจัดการเพื่อแก้ไขข้อบังคับกองทุน
นอกจากนี้
บริษัทจัดการจะต้องเตรียมพร้อมด้านบุคลากรและระบบงานเพื่อรองรับจำนวนลูกค้าและปริมาณธุรกรรมที่จะเพิ่มสูงขึ้น
รวมถึงการจัดการเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จะมีขนาดใหญ่ขึ้น โดย ก.ล.ต. จะพยายามให้การเปลี่ยนผ่านในครั้งนี้เป็นไปอย่างราบรื่น
เพื่อให้ลูกจ้างสามารถออมเงินเพื่อการเกษียณได้อย่างต่อเนื่อง”
____________________________
หมายเหตุ: *พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ปรับปรุงแก้ไขล่าสุดตาม พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
(ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558