Sign In
ข่าว ก.ล.ต.

ก.ล.ต. ปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อยกระดับการเปิดเผยข้อมูลในหนังสือชี้ชวนของกองทุนรวม



วันพุธที่ 1 มิถุนายน 2565 | ฉบับที่ 88 / 2565


ก.ล.ต. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลในหนังสือชี้ชวนของกองทุนรวม เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ครบถ้วน และเพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุน โดยมีรูปแบบที่เข้าใจง่าย และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไม่มีภาระเกินสมควร

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกประกาศยกระดับการเปิดเผยข้อมูลในหนังสือชี้ชวนของกองทุนรวมซึ่งประกอบด้วย หนังสือชี้ชวนส่วนข้อมูลกองทุนรวม (หนังสือชี้ชวนฉบับเต็ม) และหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ (factsheet) ภายใต้โครงการ Simplified Disclosure ระยะที่ 2 และเป็นหนึ่งในโครงการ Regulatory Guillotine* โดยปรับให้มีการจัดทำข้อมูลใน factsheet เป็นรายเดือน เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ลดจำนวนหน้าจากเดิม 8 หน้า เป็น 3 หน้า และเพิ่มข้อมูลตามลักษณะประเภทกองทุน เช่น กองทุนตราสารทุนให้เปิดเผยข้อมูลเชิงสถิติที่เกี่ยวข้องกับผลตอบแทนของกองทุน ได้แก่ Sharpe Ratio, Alpha, Beta กองทุนตราสารหนี้ให้เปิดเผยการจัดสรรการลงทุนในผู้ออกตราสาร 5 อันดับแรก และ Yield to Maturity เป็นต้น รวมถึงปรับปรุงการเปิดเผยผลการดำเนินงานของกองทุนให้เข้าใจง่ายขึ้นในลักษณะกราฟแท่งเปรียบเทียบกับดัชนีชี้วัดและค่าเฉลี่ยในกลุ่มเดียวกันย้อนหลัง 5 ปีปฏิทิน และยกเลิกการเปิดเผยข้อมูลเชิงอธิบายและแถบมิติความเสี่ยง 

นอกจากนี้ ปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลในหนังสือชี้ชวนฉบับเต็ม โดยเพิ่มหัวข้อบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของกองทุนรวม และยกเลิกการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการของบริษัทจัดการ รวมถึงปรับปรุงเนื้อหาในส่วนที่อ่านเข้าใจยากให้เป็นรูปแบบที่เข้าใจได้ง่ายขึ้น โดยผู้ประกอบธุรกิจเห็นชอบร่วมกับแนวทางตามที่ ก.ล.ต. เสนอ เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลที่เพียงพอและเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจลงทุนมากยิ่งขึ้น 

ทั้งนี้ ประกาศเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ข้างต้นจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 

________________________

หมายเหตุ : 

Regulatory Guillotine คือ การทบทวนกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน โดยใช้วิธีที่รวดเร็ว โปร่งใส ใช้ต้นทุนต่ำ และมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง






ข่าวในหมวดเดียวกัน

ก.ล.ต. ขยายเวลายกเว้นค่าธรรมเนียม SRI Fund ต่อเนื่องอีก 1 ปี เน้นย้ำความมุ่งมั่นขับเคลื่อนการลงทุนยั่งยืนของไทย
ก.ล.ต. เปิดตัว “Engagement Questions” เครื่องมือช่วยบริษัทจัดการกองทุนผลักดันบริษัทจดทะเบียนรับมือ climate change เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero
ก.ล.ต. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพิ่มความคุ้มครองสิทธิสมาชิกกองทุน
ก.ล.ต. เตรียมปรับเกณฑ์รองรับ leveraged และ inverse ETFs เพิ่มผลิตภัณฑ์ลงทุนที่หลากหลาย
ก.ล.ต. เตรียมปรับหลักเกณฑ์การให้บริการด้านการจัดการกองทุนส่วนบุคคล