Sign In
ข่าว ก.ล.ต.

ก.ล.ต. – คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ จัดสัมมนากลุ่มย่อยสร้างความเข้าใจการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน เพื่อร่วมหาแนวทางปฏิบัติของภาคธุรกิจ



วันพุธที่ 3 สิงหาคม 2565 | ฉบับที่ 127 / 2565


ก.ล.ต. ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ จัดสัมมนากลุ่มย่อย มุ่งเน้นประเด็นด้านการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) หรือ HRDD เป็นกิจกรรมแรกในโครงการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนสำหรับภาคธุรกิจในตลาดทุนไทย (ระยะที่ 2) เพื่อสร้างความเข้าใจและระดมความเห็นสำหรับแนวทางปฏิบัติของภาคธุรกิจ รวมถึงเปิดเผยในแบบ 56-1 One Report เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565

โครงการฯ ระยะที่ 2 ในปี 2565 ซึ่งจัดต่อเนื่องจากระยะที่ 1 ปี 2564 มุ่งเน้นการศึกษาวิจัยและจัดทำคู่มือแนวทาง ตลอดจนการจัดอบรมและสัมมนาเกี่ยวกับ HRDD โดยได้จัดสัมมนากลุ่มย่อยเป็นกิจกรรมแรก มีคณาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมบรรยายเพื่อสร้างความรู้เข้าใจเกี่ยวกับ HRDD และได้รับเกียรติจากผู้แทนของบริษัทจดทะเบียนทั้งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และระดมความคิดเห็นร่วมกัน เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำเครื่องมือเพื่อช่วยส่งเสริมให้ภาคธุรกิจดำเนินการด้วยความเคารพสิทธิมนุษยชนตามหลักการชี้แนะขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (หลักการ UNGPs) ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยสัมมนาในครั้งนี้เป็นการจัดงานแบบปลอดคาร์บอน (Carbon Neutral Event) 

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต. ในฐานะเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายพันธกิจตามแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562 – 2565) หรือ National Action Plan on Business and Human Rights (แผน NAP) ตลอดจนแผน NAP ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) ที่อยู่ระหว่างกระบวนการยกร่าง ก.ล.ต. ได้ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ จัดทำโครงการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน สำหรับภาคธุรกิจในตลาดทุนไทย ในปีนี้เป็นระยะที่ 2 ซึ่งเป็นไปตามกรอบที่ได้รับความเห็นชอบคณะทำงานจัดทำหลักสูตรอบรม “ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน สำหรับภาคธุรกิจในตลาดทุน” เพื่อมุ่งเน้นการสร้างความตระหนักรู้เรื่อง HRDD ให้แก่ภาคธุรกิจในตลาดทุน และนำสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงนำมาเปิดเผยในแบบ 56-1 One report ได้ 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แผนดำเนินการภายใต้โครงการระยะที่ 2 จะเริ่มจากการจัดสัมมนากลุ่มย่อยเพื่อระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากบริษัทจดทะเบียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมข้อมูลและนำไปสู่การจัดทำงานวิจัยและคู่มือสำหรับบริษัทจดทะเบียนนำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดทำ HRDD ให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย จากนั้นจะจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น (CEO Dialogue) และการจัดอบรมการทำ HRDD แก่ภาคธุรกิจในตลาดทุนต่อไป เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการดำเนินธุรกิจด้วยความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนสอดคล้องกับแผน NAP และหลักการ UNGPs อย่างแท้จริงและเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ ผู้ร่วมสัมมนาส่วนใหญ่เห็นความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงประเด็นสิทธิมนุษยชน และสนับสนุนการนำหลักการ UNGPs และ HRDD มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ และได้ร่วมสะท้อนมุมมองทั้งในส่วนการระบุประเด็นความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน การให้ความร่วมมือของผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกองค์กร โดยนอกจากจะช่วยลดประเด็นความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจแล้ว ยังได้รับการยอมรับจากชุมชนโดยรอบ และยังตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่คุณค่าได้อีกด้วย

______________________

หมายเหตุ : *คณะทำงานจัดทำหลักสูตรอบรม “ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน สำหรับภาคธุรกิจในตลาดทุน” ประกอบด้วย ที่ปรึกษาคณะทำงาน ได้แก่ 

(1) นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์  

(2) ศาสตราจารย์กิตติคุณวิทิต มันตาภรณ์

(3) นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ 

(4) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ 

(5) เลขาธิการ ก.ล.ต.  

และคณะทำงาน ได้แก่

(1) ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม  

(2) ผู้แทนกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

(3) ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

(4) ผู้แทนสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP Thailand)  

(5) ผู้แทนสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย 

(6) นางรัตติกุล จันทร์สุริยา

(7) รองศาสตราจารย์ทองทิพภา วิริยะพันธุ์ 

(8) ดร. สุธาดา เมฆรุ่งเรืองกุล

(9) ดร. นณริฏ พิศลยบุตร

(10) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กฤษฎากร ว่องวุฒิกุล

(11) ผู้บริหาร ก.ล.ต.






ข่าวในหมวดเดียวกัน

ก.ล.ต. เดินหน้าผลักดันการลงทุนอย่างยั่งยืนและการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศของกองทุน เน้นย้ำให้ระดับบริหารของ บลจ. ขับเคลื่อนการนำ ESG ไปปฏิบัติจริง
ก.ล.ต. เข้าร่วมเป็นสมาชิก ASEAN Taxonomy Board จัดทำมาตรฐานและเกณฑ์การจัดหมวดหมู่ด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนอาเซียน
ก.ล.ต. CFA Institute และสมาคม ซีเอฟเอ ไทยแลนด์ ผลักดันการผนวกปัจจัย ESG ในรายงานการวิเคราะห์หลักทรัพย์ต่อเนื่อง
ก.ล.ต. สั่งการให้คณะกรรมการ NEX และประธานเจ้าหน้าที่บริหารชี้แจงการเปิดเผยสารสนเทศไม่ตรงกับข้อมูลที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเปิดเผย
ก.ล.ต. เปิดรับฟังความเห็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์เปิดเผยข้อมูลของผู้ให้บริการระบบคราวด์ฟันดิง เพื่อเป็นประโยชน์แก่การประกอบการตัดสินใจของผู้ลงทุน