สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยผลการจัดงานเสวนาออนไลน์ระดับนานาชาติเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นและมุมมองต่อการพัฒนาตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลโดยผู้เชี่ยวชาญจากทั้งในและต่างประเทศ ได้รับการตอบรับที่ดี โดยมีผู้สนใจรับชมผ่านช่องทางต่าง ๆ รวมกว่า 1,000 คน
งานสัมมนาออนไลน์ SEC Thailand International Digital Asset Webinar 2022 ซึ่ง ก.ล.ต. จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Digital Asset: Lesson Learned and Moving Forward” เพื่อเป็นเวทีในการรับฟัง แลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงประเด็นเชิงนโยบายต่อแนวโน้มการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลในระดับสากล จากผู้แทนจากหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินจากสิงคโปร์และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “ในช่วงที่ผ่านมาสินทรัพย์ดิจิทัลได้รับความสนใจจากผู้คนในหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นภาคการเงิน การลงทุน การธนาคาร การค้าเชิงพาณิชย์ เทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งมีศักยภาพที่จะเปลี่ยนภูมิทัศน์ (landscape) ของระบบการเงิน วิถีการประกอบธุรกิจ การทำธุรกรรม และการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ทั้งนี้ เทคโนโลยีเบื้องหลังสินทรัพย์ดิจิทัลยังเป็นเรื่องใหม่และอยู่ในระยะเริ่มต้น ผู้เกี่ยวข้องจึงต้องสั่งสมประสบการณ์และติดตามศึกษาอย่างใกล้ชิดว่าเทคโนโลยีสามารถสร้างคุณค่าให้กับผู้ใช้งานและเศรษฐกิจโดยรวมอย่างไร ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลก็ต้องติดตามเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการทำธุรกรรม ดังนั้น ความท้าทายของหน่วยงานกำกับดูแลจึงเป็นเรื่องของการสร้างสมดุลระหว่างการสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมกับการมีกลไกคุ้มครองผู้ลงทุนที่เหมาะสม ขณะที่ยังสามารถรักษาเสถียรภาพ ความน่าเชื่อถือ และความเชื่อมั่นให้กับระบบการเงินโดยรวม สำหรับบทเรียนจากเหตุการณ์ของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในช่วงที่ผ่านมา ก.ล.ต. เห็นว่า มีส่วนช่วยในการทำความเข้าใจและการประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การออกนโยบายการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีกลไกคุ้มครองผู้ลงทุนที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงเชิงระบบ และป้องกันความเสี่ยงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ให้เกิดซ้ำได้อีกในอนาคต”
สำหรับหัวข้อการเสวนา “Public policy issues on blockchain and digital asset” Mr. Bruce Schneier ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางเทคโนโลยีและอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ให้มุมมองว่า ด้วยเทคโนโลยีของสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างบิทคอยน์มีลักษณะกระจายศูนย์ ทำให้ยากต่อการกำกับดูแล และที่ผ่านมาอาจมีผู้ที่นำบิทคอยน์มาใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ ซึ่งผู้ที่ต้องการแลกเปลี่ยนระหว่างเงินที่ใช้ชำระหนี้ทางกฎหมายและบิทคอยน์จำเป็นต้องดำเนินการผ่านตัวกลางหรือแพลตฟอร์ม ดังนั้น จึงควรกำกับดูแลที่ตัวกลางภายใต้กฎเกณฑ์ที่มีอยู่เป็นหลัก
ด้าน Mr. Lim Tuang Lee ประธาน IOSCO Board-level Fintech Taskforce และ Assistant Managing Director (Capital Markets) ของ Monetary Authority of Singapore (MAS) ได้เล่าถึงมุมมองของ MAS ที่สนับสนุนการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีบล็อกเชนที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงาน ความเชื่อมโยง และความโปร่งใส ทำให้เกิดการพัฒนารูปแบบและการใช้งานที่ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้ MAS ยังมีการเปิดรับฟังความเห็นเกี่ยวกับการกำกับดูแล stablecoin เพื่อเพิ่มความชัดเจนให้กับอุตสาหกรรม คุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของผู้ลงทุน ด้าน Ms. Elisabeth Wallace Associate Director (Strategy, Policy and Risk Department) ของ Dubai Financial Services Authority (DFSA) มองแนวโน้มการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลว่า DFSA เห็นว่ายังต้องมีมาตรการจัดการความเสี่ยงให้ครอบคลุมทุกด้าน ทำให้การกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลมีแนวโน้มที่จะชัดเจนและเข้มงวดมากขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ลงทุนโดยเฉพาะผู้ลงทุนรายย่อยได้รับความคุ้มครองที่เพียงพอ เหมาะสม รวมถึงมีกลไกจัดการความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันการฟอกเงิน การเสนอขายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความเหมาะสม และการมีธรรมาภิบาลที่ดี
สำหรับหัวข้อ “Recap on Digital Asset Market in 2022” โดยนายพิริยะ สัมพันธารักษ์ กรรมการสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และกรรมการบริหารบริษัท โฉลกดอทคอม จำกัด และการเสวนาหัวข้อ “What can we learn from 2022 crypto market?” โดยนายแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด และนายวรพจน์ กิ่งแก้วก้านทอง Head of Investment, Beacon Venture Capital ซึ่งให้ข้อมูลและแสดงมุมมองด้านผู้ลงทุนโดยสรุปว่า บทเรียนจากตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในช่วงปีที่ผ่านมาทำให้ผู้ลงทุนได้เรียนรู้ เข้าใจและตระหนักถึงความเสี่ยงจากเทคโนโลยีและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่ยังอยู่ในช่วงของการพัฒนาในระยะเริ่มต้น โดยผู้ลงทุนควรมีโอกาสได้เรียนรู้จากประสบการณ์และข้อผิดพลาดด้วยตัวเอง
________________________