ตามที่กำหนดในมาตรา 23
วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530
ว่าเมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพเพราะเหตุอื่นซึ่งไม่ใช่กองทุนเลิก ผู้จัดการกองทุนต้องจ่ายเงินจากกองทุนให้แก่สมาชิกตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับกองทุน และตามที่กำหนดในมาตรา 23/1 โดยให้จ่ายรวมทั้งหมดคราวเดียวภายในเวลาไม่เกิน 30 วันนับแต่วันสิ้นสมาชิกภาพ นั้น
อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติบริษัทจัดการอาจไม่สามารถจ่ายเงินโดยตรงให้แก่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่สิ้นสมาชิกภาพ
เนื่องจากไม่มีข้อมูลสมาชิกและข้อมูลการติดต่อสำหรับใช้โอนเงินหรือติดต่อให้มารับเงิน
บริษัทจัดการจึงออกเช็คให้สมาชิกตามที่นายจ้างแจ้งเมื่อสมาชิกสิ้นสมาชิกภาพ ดังนั้น หากนายจ้างไม่ได้แจ้งสิ้นสมาชิกภาพ
หรือนายจ้างเลิกกิจการโดยไม่ได้เลิกกองทุน หรือสมาชิกไม่ได้รับเช็ค
จะทำให้มีเงินคงค้างสะสมอยู่จำนวนมาก
ส่งผลให้สมาชิกไม่ได้รับเงินไปใช้ในยามเกษียณหรือสิ้นสมาชิกภาพ
โดยบริษัทจัดการไม่สามารถติดต่อหรือยืนยันตัวตนของสมาชิกที่มาขอรับเงินได้
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(ก.ล.ต.) จึงมีแนวคิดที่จะออกประกาศกำหนดให้บริษัทจัดการที่จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต้องจัดให้มีข้อมูลที่จำเป็นของสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ตามที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนมีมติเห็นชอบ ในการประชุมครั้งที่ 10/2565 เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565 เพื่อให้บริษัทจัดการสามารถใช้พิสูจน์ตัวตนและคืนเงินให้แก่สมาชิกตามที่กฎหมายกำหนดได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
รวมทั้งลดปัญหาในกรณีที่นายจ้างหรือคณะกรรมการกองทุนไม่ได้แจ้งสิ้นสมาชิกภาพ
ซึ่งส่งผลให้สมาชิกไม่ได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของตนสำหรับนำไปใช้ในยามจำเป็นหรือเก็บออมเพื่อรักษาเป้าหมายการออมเพื่อการเกษียณอายุ
ทั้งนี้ การมีข้อมูลของสมาชิกดังกล่าวจะช่วยให้บริษัทจัดการสามารถบริหารจัดการเงินคงค้างได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
ทั้งนี้ ก.ล.ต.
ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นรวมทั้งร่างประกาศในเรื่องดังกล่าวไว้ที่เว็บไซต์
ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=849 ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์
หรือทาง e-mail: sirinad@sec.or.th หรือ anoma@sec.or.th จนถึงวันที่ 25 ธันวาคม 2565