ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นหลักการและร่างกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการติดต่อและให้บริการลูกค้าในผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนหรือมีความเสี่ยงสูงของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ เพื่อรองรับการเสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนของบริษัทประกันภัย หรือ Insurance Capital Bond (IC Bond) แก่ผู้ลงทุนที่มิใช่ผู้ลงทุนสถาบัน เพื่อให้หลักเกณฑ์การให้บริการมีความสอดคล้องกัน และเหมาะสมกับความรู้ความเข้าใจของผู้ลงทุน
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีแนวคิดปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการติดต่อและให้บริการลูกค้าของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ สำหรับธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนหรือมีความเสี่ยงสูง เพื่อรองรับการเสนอขาย IC Bond แก่ผู้ลงทุนที่มิใช่ผู้ลงทุนสถาบัน* โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
(1) การให้บริการลูกค้าในธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับ IC Bond ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการติดต่อและให้บริการลูกค้าในผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนหรือมีความเสี่ยงสูง และอธิบายถึงสถานการณ์เชิงลบอย่างมากที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ (worst case scenario) ให้แก่ลูกค้าเพิ่มเติม ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ (Basel III)
(2) การให้บริการลูกค้าในธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับ IC Bond tier I และ Basel III tier I (ตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับ เป็นเงินกองทุนประเภทที่ 1 ของบริษัทประกันภัยและธนาคารพาณิชย์) ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีการทดสอบความรู้เกี่ยวกับการลงทุนหรือการทำธุรกรรม (knowledge test) ก่อนการให้บริการเป็นครั้งแรกเพิ่มเติมจากข้อ (1) ด้วย ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับการให้บริการในธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน (subordinated perpetual bond)**
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวไว้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=857 โดยผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail: titibhorn@sec.or.th หรือ pongpim@sec.or.th จนถึงวันที่ 28 ธันวาคม 2565
___________________________
หมายเหตุ:
* ผู้ลงทุนที่มิใช่ผู้ลงทุนสถาบัน หมายถึง ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (Ultra-High Net Worth) ผู้ลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth) และผู้ลงทุนทั่วไป
** ตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน (subordinated perpetual bond) เป็นตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีข้อกำหนดให้ผู้ถือตราสารมีสิทธิได้รับชำระหนี้คืนจากผู้ออกตราสารด้อยกว่าเจ้าหนี้สามัญ แต่ดีกว่าเจ้าหนี้ที่เป็นผู้ถือหุ้นสามัญของผู้ออกตราสาร และครบกำหนดไถ่ถอนเมื่อมีการเลิกบริษัท