สำนักงาน ก.ล.ต. เปิดเผยการดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 5 ราย ได้แก่ (1) บริษัท พีพี ไพร์ม จำกัด (มหาชน) (PPPM) (2) พลเอกเชาวฤทธิ์ ประภาจิตร์ (พลเอกเชาวฤทธิ์) (3) นายประวีณ ดีขจรเดช (นายประวีณ) (4) นางสาวภัทชรดา จุฑาประทีป (นางสาวภัทชรดา) และ (5) นางกนกวัลย์ วรรณบุตร (นางกนกวัลย์) กรณีเผยแพร่ข้อความที่อาจก่อให้เกิดความสำคัญผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับข้อมูลของ PPPM โดยให้ผู้กระทำความผิดชำระเงินตามมาตรการลงโทษทางแพ่งรวม 5,153,310 บาท และกำหนดระยะเวลาห้ามผู้กระทำความผิด 4 รายเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า ในวันที่ 2 สิงหาคม 2562 PPPM ได้เปิดเผยสารสนเทศผ่านระบบข้อมูลตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าจะไม่ผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ลำดับที่ 2 จำนวน 319.50 ล้านบาท ซึ่งครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 2 สิงหาคม 2562 และบริษัทจะชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยภายในวันที่ 7 สิงหาคม 2562 ทั้งที่ ในช่วงเวลานั้น PPPM มิได้มีสภาพคล่องเพียงพอที่จะนำมาชำระหนี้หุ้นกู้ได้ตามที่เปิดเผยสารสนเทศ ซึ่งข้อความที่ PPPM เผยแพร่ดังกล่าวอาจทำให้ประชาชนและผู้ลงทุนเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับข้อมูลของ PPPM ที่น่าจะทำให้มีผลกระทบต่อราคาหรือต่อการตัดสินใจลงทุนใน PPPM
ทั้งนี้ ในขณะเกิดเหตุ พลเอกเชาวฤทธิ์ดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร นายประวีณดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริหาร นางสาวภัทชรดาดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริษัทและกรรมการบริหาร และนางกนกวัลย์ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริษัทและกรรมการบริหาร ซึ่งบุคคลทั้ง 4 ราย ทราบข้อเท็จจริงว่า PPPM มิได้มีสภาพคล่องเพียงพอในการชำระหนี้หุ้นกู้จำนวนเงินดังกล่าว รวมทั้งมีส่วนร่วมในการดำเนินการอันนำไปสู่การเปิดเผยสารสนเทศของ PPPM ดังกล่าว
การกระทำของ PPPM เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 240 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ) ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 วรรคหนึ่ง และมาตรา 296/2 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน โดยพลเอกเชาวฤทธิ์ นายประวีณ นางสาวภัทชรดา และนางกนกวัลย์ ในฐานะเป็นบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคล สั่งการหรือกระทำการ หรือไม่สั่งการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำ เป็นเหตุให้ PPPM กระทำความผิดในกรณีข้างต้นจึงต้องรับโทษเดียวกันตามมาตรา 300 ประกอบมาตรา 240 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ
คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับ* กับผู้กระทำความผิดทั้ง 5 ราย โดยให้ผู้กระทำความผิดทั้ง 5 ราย ชำระค่าปรับทางแพ่งและชดใช้ค่าใช้จ่ายเนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด รวมเป็นเงินรายละ 1,030,662 บาท โดยให้พลเอกเชาวฤทธิ์ นายประวีณ นางสาวภัทชรดา และนางกนกวัลย์ ร่วมรับผิดในมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ดำเนินการกับ PPPM อย่างลูกหนี้ร่วมตามมาตรา 317/11 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ นอกจากนี้ ค.ม.พ. ได้กำหนดมาตรการห้ามพลเอกเชาวฤทธิ์ นายประวีณ นางสาวภัทชรดา และนางกนกวัลย์ เป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ เป็นเวลารายละ 20 เดือน
การกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารดังกล่าวข้างต้นจะมีผลนับตั้งแต่วันที่ผู้กระทำความผิดลงนามในบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอม ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติโดยไม่ต่ำกว่าอัตราที่ ค.ม.พ. กำหนด
ทั้งนี้ เงินค่าปรับทางแพ่งเป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลัง ส่วนเงินชดใช้ค่าใช้จ่ายเนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดให้ชำระแก่ สำนักงาน ก.ล.ต.
______________________
หมายเหตุ : * มาตรา 317/1 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559 ให้การกระทำความผิดอาญาตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดได้
อ่านรายละเอียด “การดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่ง (Civil Sanctions)” ได้ที่ https://www.sec.or.th/TH/Pages/LawandRegulations/CivilPenalty.aspx