ตามที่
พ.ร.ก. นิติบุคคลเฉพาะกิจฯ ให้อำนาจคณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกกฎลำดับรองเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์รองรับเกี่ยวกับนิยามสิทธิเรียกร้องที่จะมีขึ้นในอนาคตโดยให้ชำระหนี้เป็นเงินที่ก่อให้เกิดกระแสรายรับ (future receivables) รวมถึงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนตัวแทนเรียกเก็บและรับชำระหนี้ ในปัจจุบันยังไม่มีหลักเกณฑ์รองรับในเรื่องดังกล่าว
ทั้งนี้ เพื่อให้ภาคเอกชนมีแนวทางในการดำเนินการที่ชัดเจนและปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้องครบถ้วน
สำนักงาน ก.ล.ต. จึงเสนอออกหลักเกณฑ์เพิ่มเติมซึ่งมีสาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้
(1) กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับนิยาม future receivables ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.ก.
นิติบุคคลเฉพาะกิจฯ เพื่อให้ภาคเอกชนมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการนำ
future receivables มาใช้เป็นทรัพย์สินสำหรับการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์
(2) กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการรับโอนสินทรัพย์ที่เป็นสิทธิเรียกร้องและการเปลี่ยนตัวแทนเรียกเก็บและรับชำระหนี้ไปยังลูกหนี้
ตามมาตรา 15 วรรคสอง แห่ง พ.ร.ก. นิติบุคคล เฉพาะกิจฯ
เพื่อให้ภาคเอกชนมีแนวทางในการแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการรับโอนสินทรัพย์ที่เป็นสิทธิเรียกร้องและการเปลี่ยนตัวแทนเรียกเก็บและรับชำระหนี้ไปยังลูกหนี้
ที่ชัดเจนและเป็นมาตรฐานเดียวกัน
ทั้งนี้
ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นเรื่อง
การออกกฏลำดับรองสำหรับพระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการเปลี่ยนแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์
พ.ศ. 2540 ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=914
ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์
หรือทาง e-mail:
debt@sec.or.th จนถึงวันที่ 10 กรกฎาคม 2566
________________________
หมายเหตุ*
การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์
(Securitization) หมายถึง การรับโอนสินทรัพย์เพื่อทำการออกหลักทรัพย์จำหน่ายแก่ผู้ลงทุน โดยกำหนดให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ถือหลักทรัพย์ขึ้นอยู่กับกระแสรายรับที่เกิดจากสินทรัพย์ที่รับโอนมา