สำนักงาน ก.ล.ต. ขอเชิญชวนผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุน สมาคมหรือชมรมด้านการเงินการลงทุน เข้าร่วมเป็นผู้ให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน ในโครงการ “ตลาดทุนไทย ร่วมใจส่งพลังความรู้ สู่ประชาชน เฟส 2 ปี 2568” เพื่อร่วมกันผนึกกำลังในการสร้างความรู้ความเข้าใจและทักษะในด้านการเงินการลงทุน (Financial Literacy) ให้แก่ผู้ลงทุนและประชาชน ผ่านการจัดทำแผนการส่งเสริมความรู้ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายให้สามารถบริหารจัดการการเงินของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มโอกาสต่อยอดในการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนให้งอกเงย มีสุขภาพทางการเงินที่ดีอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต รวมถึงมีความรู้ความเข้าใจสถานการณ์ที่อาจเข้าข่ายถูกหลอกลวงลงทุนและมีภูมิคุ้มกันจากภัยกลโกงรูปแบบต่าง ๆ
รายละเอียด เงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการ “ตลาดทุนไทย ร่วมใจส่งพลังความรู้ สู่ประชาชน” เฟส 2 ปี 2568 และการได้รับการเชิดชูเกียรติ
|
1. คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ
1.1 เป็นผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุน (ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต. และไม่มีลักษณะการกระทำความผิดที่ร้ายแรง ในช่วงระยะเวลา 6 เดือน ก่อนวันสิ้นสุดการสมัครเข้าร่วมโครงการ ดังนี้
1.1.1 ไม่ถูกกล่าวโทษโดยสำนักงาน ก.ล.ต.
1.1.2 ไม่ถูกคณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง
ข้อ 1.1.1 และ 1.1.2 เฉพาะกรณีความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรม หรือความผิดเกี่ยวกับการบริหารงานโดยทุจริต
1.1.3 ไม่มีผู้บริหารของบริษัทถูกสั่งพัก เพิกถอนการให้ความเห็นชอบ หรือพักการปฏิบัติหน้าที่ อันเนื่องมาจากการไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการประกอบธุรกิจ โครงสร้างการบริหารงาน ระบบงาน และการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
ทั้งนี้ ขอสงวนสิทธิ์ให้การตัดสินของสำนักงานถือเป็นที่สิ้นสุด
1.2 เป็นสมาคม หรือ ชมรมด้านการเงินการลงทุนที่เกี่ยวข้องในด้านการเงินการลงทุน
2. การดำเนินการของผู้เข้าร่วมโครงการ
2.1 ผู้ที่เข้าร่วมโครงการ “ตลาดทุนไทย ร่วมใจส่งพลังความรู้ สู่ประชาชน เฟส 2 ปี 2568” ต้องจัดทำแผนการส่งเสริมความรู้ด้านการเงินการลงทุน (“แผนการส่งเสริมความรู้ฯ”) และกิจกรรมให้ความรู้ที่คัดเลือกเข้าร่วมโครงการ จะต้องไม่เป็นกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์หลักในการขายผลิตภัณฑ์ โดยมีรายละเอียดอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
2.1.1 ชื่อแผนงาน
2.1.2 วัตถุประสงค์ในการให้ความรู้ที่ชัดเจน โดยไม่มีวัตถุประสงค์หลักในการขายผลิตภัณฑ์
2.1.3 กลุ่มเป้าหมายหลักในการให้ความรู้ที่ชัดเจน เช่น กลุ่มเป้าหมายตามช่วงอายุ (วัย), กลุ่มอาชีพ, กลุ่มบุคคลที่มีลักษณะเฉพาะ (โดยหากแผนการให้ความรู้ครอบคลุมหลายกลุ่มเป้าหมาย ก็สามารถระบุได้)
2.1.4 กำหนดหัวข้อ เนื้อหา ด้านการเงินการลงทุนที่ประสงค์จะให้ความรู้ โดยครอบคลุม ความรู้ที่อ้างอิงตามกรอบสมรรถนะหลัก 7 ด้าน1 ในการให้ความรู้แก่ผู้ลงทุน
2.1.5 Key Message หรือใจความสำคัญที่ต้องการส่งสารไปยังกลุ่มเป้าหมายในการสื่อสาร
2.1.6 กำหนดระยะเวลาดำเนินการ
2.1.7 รูปแบบการดำเนินการ หรือ รูปแบบกิจกรรม
2.1.8 กำหนดตัวชี้วัด (KPI) และ วิธีการวัดผลสัมฤทธิ์ (output - outcome)
2.1.9 ผลงานความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม (ถ้ามี) สำหรับผู้ที่ได้เริ่มดำเนินการให้ความรู้ตามแผนการส่งเสริมความรู้ฯ แล้ว
2.2 แผนการส่งเสริมความรู้ฯ ตามข้อ 2.1 สามารถเป็น
2.2.1 แผนที่จะดำเนินการในปี 2568 เป็นต้นไป หรือ
2.2.2 ในกรณีที่เป็นกิจกรรมที่ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2567 จะต้องเป็นการดำเนินการที่เป็นลักษณะโครงการต่อเนื่อง โดยมีการต่อยอดโครงการเดิม เช่น มีการกำหนด Key message ใหม่ มีกลุ่มเป้าหมายใหม่ หรือมีรูปแบบสื่อใหม่ เป็นต้น
ทั้งนี้ ให้นำส่งแผนการให้ความรู้ด้านการเงินการลงทุนให้แก่สำนักงานภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2568 เพื่อที่สำนักงานจะนำมาพิจารณาเพื่อมอบรางวัลเชิดชูเกียรติแก่ผู้ที่เข้าร่วมโครงการ
-------------------------------------------
*หมายเหตุ : 1 : IOSCO and OECD (2019), Core Competencies Framework on Financial Literacy for Investors ซึ่งมีเนื้อหาหลักประกอบด้วย 1. หลักการและแนวคิดพื้นฐานการลงทุน (Basic investing principles and concepts) 2.ลักษณะของผลิตภัณฑ์การลงทุน (Investment product attributes) 3. กระบวนการซื้อขายผลิตภัณฑ์การลงทุน (Buying/ selling process of investment products) 4. ข้อมูลพอร์ทการลงทุน (Owning investment holdings) 5. สิทธิและความรับผิดชอบของผู้ลงทุน (Investors’ rights and responsibilities) 6. อคติเชิงพฤติกรรมที่เกี่ยวกับการลงทุน (Behavioral biases related to investing) 7. กลโกงและการถูกหลอกลงทุน (Investment scams and fraud)
-------------------------------------------
3. รูปแบบและเงื่อนไขการเชิดชูเกียรติ
3.1 ผู้เข้าร่วมโครงการที่มีการนำเสนอแผนการส่งเสริมความรู้ฯ ที่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามข้อ 2.1 และเป็นไปตามเงื่อนไขหรือเกณฑ์การพิจารณาจากสำนักงาน จะได้รับ “โล่ตามสาขารางวัล จากสำนักงาน ก.ล.ต.” ที่จัดทำขึ้นเพื่อแสดงว่าเป็นองค์กรที่สร้างคุณค่าในด้านการให้ความรู้แก่สังคมในด้านต่าง ๆ โดยจะมีการกำหนดประเภทสาขารางวัล สำหรับโครงการตลาดทุนไทยฯ เฟส 2 ปี 2568 รวมทั้งสิ้น 5 ประเภทรางวัล ดังต่อไปนี้
สาขารางวัล
| ตัวอย่างเงื่อนไขและรายละเอียด*
|
1. “ขวัญใจมหาชน” (Public Favorite Award) | สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มีการดำเนินการให้ความรู้ที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมได้ในวงกว้าง และ/หรือ มีจำนวนผู้ที่เข้าถึงความรู้ตามแผนการให้ความรู้จำนวนมาก เช่น มากกว่า 10 ล้านราย (reach) และ/หรือ มีผู้เข้ารับชมมากกว่า 10 ล้านครั้ง (view) ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2568 (รวมทุกช่องทางการเผยแพร่ได้) ในกรณีผู้ประกอบธุรกิจที่ได้ยื่นสาขารางวัลขวัญใจมหาชนในปี 2567 และได้รับรางวัลแล้ว หากประสงค์จะยื่นสาขารางวัลนี้ในปี 2568 ให้เริ่มนับจำนวนผู้เข้าถึงความรู้ตั้งแต่ 1 ก.ย. 67 ในกรณีผู้ประกอบธุรกิจที่ยังไม่เคยยื่นสาขารางวัลขวัญใจมหาชนในปี 2567 ให้เริ่มนับจำนวนผู้เข้าถึงความรู้ได้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 67
|
2. “การสร้างองค์ความรู้อย่างยั่งยืน” (Sustainability Award)
| สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มีแผนการส่งเสริมความรู้ฯ ที่แสดงได้ว่ามีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน สามารถส่งต่อความรู้ต่อกลุ่มเป้าหมายได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีการทำกิจกรรมที่สามารถวัด output และ outcome ได้อย่างเป็นรูปธรรม มีระยะเวลาโครงการกิจกรรมตามแผนตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป เช่น การให้ความรู้กับกลุ่มนักศึกษา กลุ่มสาขาอาชีพต่าง ๆ (นักกีฬา ทหาร ตำรวจ ฯลฯ) ที่มีการติดตามผลงาน หรือการสร้างเครือข่ายให้ความรู้ที่สามารถส่งต่อความรู้ต่อไปได้ในระดับชุมชน สถานศึกษา องค์กร หรือภูมิภาค ในกรณีผู้ประกอบธุรกิจที่ได้ยื่นสาขารางวัลการสร้างองค์ความรู้อย่างยั่งยืนในปี 2567 และได้รับรางวัลแล้ว หากประสงค์จะยื่นโครงการเดิมสำหรับสาขารางวัลนี้ในปี 2568 ต้องแสดงให้เห็นข้อมูลการต่อยอดจากโครงการเดิม เช่น key message ใหม่ กลุ่มเป้าหมายใหม่ เป็นต้น
|
3. “ความคิดสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม” (Creativity Awards) | สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มีแผนการส่งเสริมความรู้ฯ ที่แสดงให้เห็นได้ว่ามีความโดดเด่นในด้านความคิดสร้างสรรค์ มีการให้ความรู้การเงินการลงทุนที่สามารถทำให้คนจดจำได้ง่าย อาจนำไปสู่การช่วยให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายได้ และ/หรือ มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมาประกอบการให้ความรู้ได้อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งสามารถนำไปปฏิบัติให้เกิดผลต่อกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเป็นรูปธรรม
|
4. รางวัล “ผู้สร้างพลังความรู้ทางการเงินและการลงทุน” (The Financial Empowerment Award)
| สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่สะสมรางวัลครบทั้ง 3 ประเภท (รางวัลขวัญใจมหาชน, รางวัลการสร้างองค์ความรู้อย่างยั่งยืน และรางวัลความคิดสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม) ในช่วงปี 2567-2570 สำนักงานจะพิจารณาจากฐานข้อมูลของสำนักงาน และจะแจ้งการมอบรางวัลให้แก่ ผู้ประกอบธุรกิจที่มีคุณสมบัติเป็นตามเงื่อนไขทราบต่อไป |
*เงื่อนไขและรายละเอียดอาจปรับปรุงได้ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์และความจำเป็น
ผู้เข้าร่วมโครงการต้องระบุประเภทของสาขารางวัลที่ประสงค์จะได้รับ (1 แผนการส่งเสริมความรู้ฯ ต่อรางวัล 1 ประเภท) เพื่อให้สำนักงานพิจารณา ภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2568
3.2 ผู้เข้าร่วมโครงการที่ได้รับโล่รางวัล จะได้รับตราสัญลักษณ์พิเศษ ที่สามารถนำไปใช้ในการประชาสัมพันธ์การเข้าร่วมเป็นพลังของตลาดทุนไทยในการขับเคลื่อนในด้านการให้ความรู้ โดยอาจใช้ในการจัดกิจกรรมการให้ความรู้ หรือในเอกสารประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถติดตามผลการดำเนินโครงการได้ ผู้ได้รับมอบโล่ และตราสัญลักษณ์พิเศษ จะต้องดำเนินการ ดังนี้
(1) ปฏิบัติตามแผนการส่งเสริมความรู้ฯ ที่นำเสนอต่อสำนักงาน ตามข้อ 2
(2) รายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนส่งเสริมความรู้ฯ และ/หรือผลสัมฤทธิ์ของแผนการส่งเสริมความรู้ฯ ให้สำนักงานทราบ ณ สิ้นสุดไตรมาสที่ 4 ของปี 2568- 2570 หรือตามระยะเวลาดำเนินการของแผนการส่งเสริมความรู้ฯ
ทั้งนี้ หากผู้เข้าร่วมโครงการไม่ได้ดำเนินการตามเงื่อนไขข้างต้น โดยปราศจากเหตุอันควรหรือเหตุสุดวิสัย อาจมีการพิจารณาเรียกคืนตราสัญลักษณ์พิเศษ
4. FAQs
4.1 การให้ความรู้ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการให้ความรู้นอกเหนือจากการให้ข้อมูลเพื่อเสนอขายผลิตภัณฑ์หรือบริการตามปกติขององค์กรพิจารณาจากอะไร?
ตอบ การให้ความรู้ตามแผนการส่งเสริมความรู้ ให้บริษัทเป็นผู้คัดเลือกและยืนยันแผนการให้ความรู้ หรือกิจกรรมความรู้ที่เข้าร่วมโครงการ ว่ากิจกรรมให้ความรู้ที่คัดเลือกเข้าร่วมโครงการ จะต้องไม่เป็นกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์หลักในการขายผลิตภัณฑ์ แนวทางการพิจารณา เช่น สามารถเป็นการดำเนินการในลักษณะที่ควบคู่ไปกับการเผยแพร่ภาพลักษณ์องค์กร หรือการแนะนำช่องทางการให้บริการของบริษัทที่ผู้ลงทุนสามารถใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจเลือกใช้บริการได้ เช่น tie in ช่องทางการติดต่อบริษัทในรายการ หรือ application ในการลงทุนของบริษัทไม่บังคับให้เปิดบัญชีหรือต้องเป็นลูกค้าของบริษัทก่อนจึงจะใช้ application ได้
4.2 การให้ความรู้ประเภทใด? ที่ไม่รวมอยู่ในเงื่อนไขของโครงการ
ตอบ
ตัวอย่างกิจกรรม
| เข้าเงื่อนไข
(ü)
| ยังไม่เข้าเงื่อนไข (X)
|
จัดสัมมนา/อบรม/workshop ให้ความรู้แก่ด้านการเงินการลงทุน โดยมีเนื้อหาเป็นไปตามกรอบที่กำหนด
| - มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าร่วมรับฟังได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย - จัดให้กลุ่มเป้าหมาย เช่น นักศึกษา พนักงาน คนใกล้เกษียณ ในเนื้อหาที่เหมาะสมกับความสนใจ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
| - สัมมนาแนะนำกลยุทธ์การลงทุน/ผลิตภัณฑ์ใหม่ ให้เฉพาะลูกค้าของบริษัท เพื่อเป็นประโยชน์ในการขายผลิตภัณฑ์หรือบริการ - มีการเปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าร่วมได้ แต่มีการเก็บค่าใช้จ่าย หรือมีเงื่อนไขในเชิงพาณิชย์ - การสอนการใช้งานโปรแกรมซื้อขายหลักทรัพย์ หรือวิธีใช้เครื่องมือวิเคราะห์การลงทุน - การแนะนำกองทุนให้แก่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
|
การจัดทำสื่อความรู้/บทความ/ Infographic ที่มีความต่อเนื่อง โดยมีเนื้อหาเป็นไปตามกรอบที่กำหนด
| - เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของบริษัท และมีการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางอื่น ๆ แบบสาธารณะ (Public) ด้วย เพื่อให้เนื้อหาเข้าถึงผู้อ่านมากขึ้น - เผยแพร่บน Social Media ที่เปิดกว้าง เช่น Facebook LINE TikTok Instagram Blockdit เป็นต้น
| - เผยแพร่ข้อมูลลงในกลุ่มปิดหรือเฉพาะกลุ่มลูกค้าบริษัทเท่านั้น
|
4.3 ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้เข้าร่วมโครงการในปี 2567 แล้วและได้รับโล่รางวัลแล้ว สามารถยื่นเข้าร่วมโครงการในปี 2568 ได้อีกหรือไม่?
ตอบ ผู้ประกอบธุรกิจสามารถยื่นเข้าร่วมโครงการได้ทุกปี โดยหากมีความสนใจสามารถเลือกเข้าร่วมโครงการตามสาขารางวัลที่ต่างกัน เพื่อให้ได้รับครบทุกสาขารางวัลได้
4.4 ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้เข้าร่วมโครงการในปี 2567 แล้วและได้รับโล่รางวัลทั้ง 3 ประเภทแล้ว จะสามารถได้รับโล่รางวัลประเภท “ผู้สร้างพลังความรู้ทางการเงินและการลงทุน” (The Financial Empowerment Award) เลยหรือไม่?
ตอบ ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้เข้าร่วมโครงการในปี 2567 แล้วและได้รับโล่รางวัลทั้ง 3 ประเภทแล้ว จะถือว่าเป็นผู้ที่ได้รางวัล “ผู้สร้างพลังความรู้ทางการเงินและการลงทุน” (The Financial Empowerment Award) ในปี 2568 ซึ่งจะเป็นการได้รับรางวัลสูงสุดของโครงการ (ได้รับเพียงครั้งเดียว) แต่ยังสามารถขอรับรางวัลประเภท 1-3 ได้ทุกปี ตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการ
สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่ยังได้รับโล่รางวัลไม่ครบทั้ง 3 ประเภท สามารถสะสมโล่รางวัลให้ครบทั้ง 3 ประเภทเพื่อได้รับรางวัลสูงสุดของโครงการนี้ได้
ผู้ประกอบธุรกิจที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ สามารถดำเนินการได้ดังนี้
1. กรอกข้อมูลในแบบแสดงความจำนงการเข้าร่วมโครงการฯ เฟส 2 ปี 2568 แล้วนำส่งแบบแสดงความจำนงฯ ส่งกลับมาทางอีเมล smarttoinvest@sec.or.th ภายในวันที่ 30 พฤษภาคม 2568
(ดาวน์โหลดแบบแสดงความจำนงฯ คลิก)
2. นำส่งไฟล์แผนการส่งเสริมความรู้ด้านการเงินการลงทุนสำหรับโครงการ เฟส 2 ปี 2568 ทางแบบฟอร์มออนไลน์ ภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2568
(แบบฟอร์มออนไลน์นำส่งแผนการส่งเสริมความรู้ฯ คลิก)
การเชิดชูเกียรติภายใต้โครงการตลาดทุนไทยฯ เป็นรางวัลที่สำนักงาน ก.ล.ต. มอบให้ในฐานะของผู้ส่งเสริมความรู้โดยพิจารณาจากแผนงานการให้ความรู้ความรู้แก่ประชาชน สำนักงาน ก.ล.ต.จึงไม่ได้รับรองคุณสมบัติด้านการประกอบธุรกิจของผู้ที่ได้รับรางวัลการเชิดชูเกียรติ
ข้อมูลการเข้าถึงความรู้ของ ก.ล.ต. และผู้ประกอบธุรกิจโครงการตลาดทุนไทยฯ คลิก
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: ฝ่ายพัฒนาและส่งเสริมความรู้ตลาดทุน สำนักงาน ก.ล.ต.
คุณ สุทธิกัญญา กาญจนสกุล อีเมล: suttikun@sec.or.th