คณะกรรมการ ก.ล.ต.
คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (คณะกรรมการ ก.ล.ต.) มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลตลาดทุนในภาพรวม ตลอดจนวางนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนา โดยภายใต้พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 โครงสร้างของคณะกรรมการ ก.ล.ต. จะมีความเป็นสากล โปร่งใส และเป็นอิสระ โดยกฎหมายได้แบ่งแยกบทบาทหน้าที่ระหว่างประธานกรรมการและผู้บริหารสูงสุด (เลขาธิการ ก.ล.ต.) ออกจากกันอย่างชัดเจน ทั้งนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. จะประกอบด้วย
ประธานกรรมการ ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรีตามคำแนะนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
กรรมการโดยตำแหน่งจากภาครัฐ ได้แก่
1. ปลัดกระทรวงการคลัง
2. ปลัดกระทรวงพาณิชย์
3. ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่น้อยกว่า 4 คนแต่ไม่เกิน 6 คน ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยต้องผ่านกระบวนการคัดเลือกของคณะกรรมการคัดเลือกที่ได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นอกจากนี้ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนด และต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย การบัญชีและการเงิน ด้านละ 1 คนเป็นอย่างน้อย
เลขาธิการ ก.ล.ต. เป็นกรรมการและเลขานุการ
ทั้งนี้ ประธานกรรมการ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และเลขาธิการ ก.ล.ต. ที่ได้รับการแต่งตั้งจะมีวาระในการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี และเมื่อพ้นจากตำแหน่งตามวาระ อาจได้รับแต่งตั้งได้อีก แต่ไม่สามารถดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้เกิน 2 วาระ
ปัจจุบัน คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกอบด้วยกรรมการ ดังนี้
สำหรับรายชื่อคณะกรรมการ ก.ล.ต. ในอดีตสามารถเรียกดูได้ที่
รายชื่อคณะกรรมการ ก.ล.ต.
คณะกรรมการตรวจสอบ
คณะกรรมการ ก.ล.ต. แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบจำนวนไม่น้อยกว่า 3 คน แต่ไม่เกิน 5 คน ในจำนวนนี้ต้องเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ก.ล.ต. ไม่น้อยกว่า 2 คน โดยคณะกรรมการ ก.ล.ต. แต่งตั้งกรรมการตรวจสอบคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการตรวจสอบ และกรรมการตรวจสอบที่ได้รับการแต่งตั้งควรประกอบด้วยกรรมการที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านบัญชี ด้านการเงิน ด้านตลาดทุน ด้านการบริหารความเสี่ยง ด้านการควบคุมภายใน ด้านการตรวจสอบภายใน ด้านกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง หรือ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยอย่างน้อย 1 คนต้องมีความรู้ความเข้าใจ ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ด้านการเงิน การบัญชี หรือด้านการตรวจสอบภายใน
คณะกรรมการตรวจสอบมีหน้าที่ตามที่กำหนดตามมาตรา 14/2 และกฎบัตรของคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการในการกำกับดูแลและตรวจสอบการบริหารงานของสำนักงาน ตลอดจนให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับระบบการควบคุมภายใน การบริหารความเสี่ยง การปฏิบัติตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ ระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องและการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน อาทิเช่น นโยบาย ก.ล.ต. องค์กรปลอดคอร์รัปชัน เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้ความเชื่อมั่นว่าการดำเนินงานของสำนักงาน ก.ล.ต. จะเป็นไปอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
กฎบัตรของคณะกรรมการตรวจสอบ
ปัจจุบันคณะกรรมการตรวจสอบประกอบด้วยกรรมการ
ดังนี้
- นายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย ประธานกรรมการ
- นายวิพุธ อ่องสกุล กรรมการ
- นายศุภมิตร เตชะมนตรีกุล กรรมการ
คณะอนุกรรมการด้านธรรมาภิบาลและค่าตอบแทน
เป็นคณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการ
ก.ล.ต. แต่งตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่เสนอแนะนโยบายและแนวทางพัฒนาธรรมาภิบาลขององค์กร
รวมทั้งแนวทางหรือหลักเกณฑ์ในการสรรหา การกำหนดค่าตอบแทน และการประเมินผลงาน
คณะกรรมการ ก.ล.ต. คณะกรรมการกำกับตลาดทุน คณะอนุกรรมการ และเลขาธิการ
ปัจจุบันคณะอนุกรรมการด้านธรรมาภิบาลและค่าตอบแทน ประกอบด้วย กรรมการ ก.ล.ต.
ดังนี้
- นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ประธานอนุกรรมการ
- นายวิพุธ อ่องสกุล อนุกรรมการ
- นายศุภมิตร เตชะมนตรีกุล อนุกรรมการ
คณะกรรมการคัดเลือก เป็นคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามมาตรา 31/3 เพื่อทำหน้าที่คัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิที่จะทำหน้าที่เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรมการ ก.ล.ต. หรือในคณะกรรมการ ก.ต.ท. คณะกรรมการคัดเลือก ประกอบด้วยกรรมการจำนวน 7 คน ซึ่งเป็นบุคคลที่เคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ* ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือผู้เคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ก.ล.ต. ทั้งนี้ ไม่เกินตำแหน่งละ 1 คน คณะกรรมการคัดเลือก ต้องไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา และไม่เป็นผู้มีผลประโยชน์หรือส่วนได้เสียอย่างมีนัยสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ ----------------------------------------------------------------------------------------------------------- * หมายความรวมถึงบุคคลซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วย
|