ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา องค์กรต่างๆ ทั่วโลกได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่มีผลกระทบอย่างมากต่ออนาคตและความเป็นอยู่ของประชากร โดยได้มีมาตรการหลายส่วนผสมผสานกัน ซึ่งในส่วนของผู้ลงทุนสถาบันถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่ควรบริหารการลงทุนอย่างรับผิดชอบ คือ นอกจากการพิจารณาลงทุนจากปัจจัยด้านผลตอบแทนและความเสี่ยงของกิจการที่ลงทุนแล้ว ยังควรพิจารณาในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งการกำกับดูแลกิจการที่ดี (“ESG") ของกิจการดังกล่าวด้วย และหากกิจการนั้นมีประเด็นปัญหาในเรื่องดังกล่าว ผู้ลงทุนสถาบันก็ควรผลักดันให้มีการปรับปรุงแก้ไข ดังนั้น องค์กรระหว่างประเทศและประเทศต่างๆ จึงได้มีการออกหลักปฏิบัติเพื่อเป็นธรรมาภิบาลของผู้ลงทุนสถาบันในการบริหารจัดการลงทุน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะนำมาซึ่งผลตอบแทนที่ดีที่สุดของ เจ้าของเงินลงทุน และผู้ลงทุนสถาบันนั้นเองในระยะยาวด้วย
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (“สำนักงาน ก.ล.ต.") ตระหนักถึงความสำคัญที่ควรมีหลักธรรมาภิบาลการลงทุน (Investment Governance Code: I Code) เพื่อเป็นหลักปฏิบัติสำหรับการบริหารจัดการลงทุนของผู้ลงทุนสถาบันตามแนวทางสากลที่กล่าวข้างต้น การมีหลักธรรมาภิบาลการลงทุนนี้ จะนำมาซึ่งความน่าเชื่อถือของผู้ลงทุนสถาบันที่รับจัดการเงินลงทุนให้กับทั้งลูกค้า ในประเทศและต่างประเทศ และเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนให้เกิดการกำกับดูแลกิจการที่ดี และการประกอบธุรกิจอย่างรับผิดชอบของบริษัทและกิจการในตลาดทุนไทยด้วย
การออก I Code นี้ ได้ผ่านการพิจารณาและมีความเห็นร่วมกันของทุกภาคส่วน ซึ่งรวมถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สำนักงานประกันสังคม สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สมาคมบริษัทจัดการลงทุน สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุนทุกแห่ง ดังนั้น คณะกรรมการ ก.ล.ต. จึงได้ให้ความเห็นชอบการออก “หลักธรรมาภิบาลการลงทุน (I Code)" นี้ เพื่อเป็นหลักปฏิบัติในการบริหารจัดการลงทุนของผู้ลงทุนสถาบันในการลงทุนในกิจการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดของเจ้าของเงินลงทุนนั้นต่อไป
I Code นี้ ประกอบด้วยหลักปฏิบัติ 7 ข้อ ดังนี้
หลักปฏิบัติที่ 1 กำหนดนโยบายธรรมาภิบาลการลงทุนที่ชัดเจน
หลักปฏิบัติที่ 2 มีการจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างเพียงพอเพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดของลูกค้า
หลักปฏิบัติที่ 3 ตัดสินใจและติดตามบริษัทที่ลงทุนอย่างใกล้ชิดและทันเหตุการณ์ (Actively)
หลักปฏิบัติที่ 4 เพิ่มระดับในการติดตามบริษัทที่ลงทุน เมื่อเห็นว่าการติดตามในหลักปฏิบัติที่ 3 ไม่เพียงพอ (Escalating Investee Companies)
หลักปฏิบัติที่ 5 เปิดเผยนโยบายการใช้สิทธิออกเสียงและผลการใช้สิทธิออกเสียง
หลักปฏิบัติที่ 6 ร่วมมือกับผู้ลงทุนอื่นตามความเหมาะสม (Collective Engagement)
หลักปฏิบัติที่ 7 เปิดเผยนโยบายธรรมาภิบาลการลงทุน และการปฏิบัติตามนโยบายต่อลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ
คลิกดูรายละเอียด
แนวทางการออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น (Proxy Voting Guidelines)
แถลงการณ์ร่วมต่อต้านคอร์รัปชัน
แนวทางเตรียมความพร้อมและการปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลการลงทุน สำหรับผู้ลงทุนสถาบัน (I Code Guildeline)
ตัวอย่างแนวทางการตั้งคำถามในประเด็นเกี่ยวกับ ESG
ความสำเร็จของการนำ I Code ออกใช้ ต้องอาศัยความพร้อมเพรียงของผู้ลงทุนสถาบันในการรับและปฏิบัติตาม I Code ซึ่งความพร้อมเพรียงดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ดังนั้น ในการขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ที่วางไว้ องค์กรที่เกี่ยวข้องกับผู้ลงทุนสถาบัน 9 องค์กร จึงได้ร่วมกันแถลงความร่วมมือ ในการสนับสนุนให้เกิดการปฏิบัติตามหลักการธรรมภิบาลการลงทุน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 โดยจะร่วมมือกันใน 5 เรื่อง ได้แก่
- กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนร่วมกันในการผลักดันให้เกิดการนำ I Code ไปปฏิบัติ
- พัฒนาคู่มือ แนวปฏิบัติ ตลอดจนหลักสูตรต่าง ๆ ที่ส่งเสริมการปฏิบัติตาม I Code ให้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตลอดจนทบทวน I Code ให้มีพัฒนาการเป็นไปตามมาตรฐานสากล
- ร่วมกันเพื่อผลักดันให้ผู้ลงทุนสถาบันที่อยู่ภายใต้การดูแล ประกาศรับการปฏิบัติตาม I Code และนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง
- สนับสนุนให้ผู้ลงทุนเลือกใช้บริการจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนและผู้ให้บริการที่ประกาศรับการปฏิบัติตาม I Code ในการบริหารจัดการเงินลงทุน หรือบริการที่เกี่ยวข้อง
- พัฒนาการเปิดเผยข้อมูลการปฏิบัติตาม I Code ให้สะท้อนการมีธรรมาภิบาลการลงทุนของผู้ลงทุนสถาบันและมีช่องทางในการเข้าถึงได้ง่าย
นอกจากนี้ จะมีการร่วมกันจัดตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อให้การประสานความร่วมมือและขับเคลื่อนเป็นไปอย่างมีประสิทธิผล โดยคณะทำงานดังกล่าว ประกอบด้วย ผู้แทนจากองค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สำนักงานประกันสังคม สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สมาคมบริษัทจัดการลงทุน สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยมีเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นประธานฝ่ายส่งเสริมบรรษัทภิบาล สำนักงาน ก.ล.ต. ทำหน้าที่เลขานุการ