CSR
Q: CSR ทำเพื่ออะไร ?
A: แนวคิดพื้นฐานของ CSR คือ การทำให้ธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน การที่ธุรกิจทำ CSR ธุรกิจยังต้องมีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นในการบริหารกิจการให้มีผลกำไร และยังเป็นที่ยอมรับของสาธารณชน รวมถึงสามารถขยายกิจการให้เจริญเติบโตในสังคมและชุมชนที่ธุรกิจดำเนินอยู่ได้อย่างยั่งยืน
Q: CSR ใครได้ประโยชน์ ?
A: สำหรับประโยชน์จากการทำ CSR จะส่งผลถึงผู้เกี่ยวข้องหลายด้าน เช่น ประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นในแง่มูลค่าหุ้นที่สูงขึ้น ประโยชน์ต่อพนักงานทำให้เกิดความสุขและความภาคภูมิใจในการทำงานร่วมกับองค์กร ในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวธุรกิจเองในการเป็นที่ยอมรับในสังคม ส่งผลให้สามารถสร้างรายได้ และเพิ่มส่วนแบ่งตลาดให้กับธุรกิจด้วย นอกจากนี้ การทำ CSR ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการประหยัดพลังงาน หรือใช้พลังงานทดแทนด้วย
Q: CSR ช่วยเพิ่มยอดขาย หรือกำไรให้บริษัทหรือไม่ ?
A: การทำ CSR สำหรับภาคธุรกิจแล้วคงมองเป็น "ต้นทุน" อย่างหนึ่ง ซึ่งผลตอบแทนที่ได้กลับมาซึ่งเห็นชัดเจนที่สุดคือ ชื่อเสียง ภาพลักษณ์ว่าเป็นองค์กรที่ห่วงใยสังคม ทำให้ลูกค้าเกิดความตระหนักรับรู้ในด้านดีกับองค์กร นำไปสู่ความตั้งใจซื้อหรือสนับสนุน ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสการขายสินค้าได้เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การทำ CSR จึงถือเป็นการลงทุนที่อาจไม่ก่อผลทางตรงในระยะสั้น แต่เป็นการสร้างฐานความมั่นคงในระยะยาวสำหรับองค์กรที่มุ่งหวังความยั่งยืน
Q: การบริจาคถือเป็น CSR หรือไม่ ? อย่างไร ?
A: การบริจาคพอจะอนุมานได้ว่าเป็น CSR แบบหนึ่ง แต่ผลที่ได้อาจไม่ได้นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะเงินหรือของที่บริจาคไปอาจไม่ได้ช่วยให้ผู้รับสามารถพึ่งตนเองได้ในระยะยาว เช่น การบริจาคเงินให้ผู้ยากไร้อาจก่อให้เกิดประโยชน์ในระยะสั้น เปรียบเทียบกับการสอนอาชีพให้แก่คนชุมชน ซึ่งจะช่วยให้คนในชุมชนนั้นสามารถดำรงชีพด้วยตนเองต่อไปได้ ในระยะยาวย่อมมีความยั่งยืนมากกว่า ดังนั้น ในแวดวง CSR ในระยะหลัง จึงมีการพูดถึง "การบริจาคเชิงกลยุทธ์" ซึ่งเป็นแนวคิดที่ผสมผสานประโยชน์ทางสังคมและประโยชน์ของธุรกิจเข้าด้วยกันภายใต้หลักการ 4 ข้อ ได้แก่
(1) partner : การสร้างพันธมิตรระหว่างผู้ให้และผู้รับปลายทาง
(2) purpose : ผู้รับต้องนำสิ่งที่ได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์
(3) passion : ผู้ให้และผู้รับต้องร่วมกันดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่สูงกว่า
(4) profit : ประโยชน์ที่ผู้ให้และผู้รับจะได้รับ
Q: หากบริษัทสนใจจะทำ CSR จะเริ่มต้นได้อย่างไร ?
A: บริษัทสามารถเริ่มต้นทำ CSR ด้วยตนเองได้ตามขั้นตอน ดังนี้
ขั้นที่ 1 : แยกแยะผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง
- ภายในบริษัท ได้แก่ ผู้ถือหุ้น พนักงาน
- ผู้เกี่ยวข้องกับบริษัทโดยตรง ได้แก่ ลูกค้า ซัพพลายเออร์ คู่แข่ง
- ผู้เกี่ยวข้องกับบริษัทโดยอ้อม ได้แก่ ภาครัฐ ชุมชน
ขั้นที่ 2 : พิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ
- สิทธิมนุษยชน สวัสดิการ พนักงาน
- ความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ การปฏิบัติที่เป็นธรรม
- การปฏิบัติตามกฎหมาย การพัฒนาสังคม
ขั้นที่ 3 : เลือกทำประเด็นที่จะดำเนินการตามความเหมาะสม โดยปัจจัยที่ควรใช้ในการพิจารณาความเหมาะสม ได้แก่
- ความเหมาะสมกับลักษณะธุรกิจของบริษัท
- ความพร้อมด้านทรัพยากรของบริษัท เช่น ฐานะการเงิน ทรัพยากรบุคคล เป็นต้น
Q: บริษัทเพิ่งเริ่มต้นทำ CSR จะปฏิบัติตามรูปแบบ CSR ของบริษัทอื่นได้หรือไม่ ?
A: บริษัทอาจศึกษารูปแบบการดำเนินการด้าน CSR ของบริษัทอื่นเป็นแนวทางได้ แต่ควรนำมาปรับให้เหมาะกับลักษณะธุรกิจและทรัพยากรของบริษัท ในบางกรณีบริษัทก็อาจเข้าร่วมกิจกรรม CSR ของบริษัทอื่นได้เช่นกัน หากเห็นว่ามีความเหมาะสม
Q: บริษัทที่ยังไม่มีความพร้อม เช่น บริษัทขนาดเล็ก บริษัทที่มีผลประกอบการยังไม่มีกำไร ยังไม่ควรทำ CSR ใช่หรือไม่ ?
A: ไม่ใช่ เพราะการทำ CSR นั้นมีหลายด้าน และบางเรื่องไม่จำเป็นต้องใช้เงิน หรือบางเรื่องเป็นการดำเนินการภายในกิจการที่พึงทำตามปกติอยู่แล้ว เช่น การดูแลพนักงานเกี่ยวกับสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน การพัฒนาพนักงาน การมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภาค เป็นต้น นอกจากนี้ การทำ CSR บางเรื่องก็เป็นการดำเนินการที่ใช้ทรัพยากรบุคคลของบริษัทดำเนินการได้ เช่น การร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม เป็นต้น
Q: หากบริษัทดำเนินธุรกิจประเภทให้บริการจะทำ CSR ได้อย่างไร ?
A: การทำ CSR ไม่ใช่เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว ดังนั้น บริษัทที่ดำเนินธุรกิจประเภทให้บริการก็สามารถทำ CSR ได้ โดยการผสมผสานเข้ากับกระบวนการดำเนินธุรกิจ ได้แก่
(1) การทำ CSR ที่สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายขององค์กรโดยปรับสายการผลิต หรือการจัดจำหน่าย ส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพสูงขึ้น และลดการสูญเสีย
(2) การทำ CSR ที่ให้รายได้เพิ่มขึ้น โดยเชิญชวนลูกค้าซื้อสินค้า/ บริการ แล้วธุรกิจสมทบเงินเอาไปบริจาค เป็นต้น หรือบริษัทอาจทำ CSR โดยใช้ทรัพยากรบุคคลในการดำเนินการก็ได้
Q: ผู้บริหารมีผลต่อการขับเคลื่อน CSR ในองค์กรมากน้อยเพียงไร ?
A: ผู้บริหารเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน CSR ขององค์กร เพราะผู้บริหารจะต้องเป็นผู้ที่เข้าใจ เห็นความสำคัญ ยอมรับ และกำหนดเป็นนโยบาย ตลอดจนให้ความเห็นชอบและให้การสนับสนุนการขับเคลื่อน CSR ซึ่งบทบาทในเรื่องนี้ของผู้บริหารจะเป็นขวัญกำลังใจและแรงกระตุ้นสำคัญให้กับพนักงานในองค์กรต่อไป
Q: เมื่อทำ CSR แล้ว จะโฆษณาประชาสัมพันธ์ได้หรือไม่ ?
A: การประชาสัมพันธ์เป็นเพียงส่วนสนับสนุนการทำ CSR เท่านั้น ไม่ใช่วัตถุประสงค์หลักในการทำ CSR โดยการประชาสัมพันธ์สามารถทำได้ทั้งการประชาสัมพันธ์ภายในเพื่อเป็นการให้ข้อมูลสื่อสารให้สมาชิกในองค์กรมาร่วมมือกัน และการประชาสัมพันธ์ภายนอกเพื่อเป็นการสื่อสารกับสาธารณชน ให้สังคมได้รับรู้และมีส่วนร่วมในสิ่งที่องค์กรทำ
Q: รายงาน CSR คืออะไร ? และมีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องจัดทำรายงาน ?
A: รายงาน CSR (CSR Report หรือ Sustainability Report) เป็นรายงานที่บริษัทจัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ให้ทราบโครงการ/ กิจกรรมที่บริษัททำเกี่ยวกับ CSR ข้อมูลในรายงานจะเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญให้ผู้ลงทุนใช้ประกอบการตัดสินใจพิจารณาลงทุนในบริษัทที่มีการดำเนินการด้าน CSR ทั้งนี้ รายงาน CSR อาจเป็นส่วนหนึ่งของรายงานประจำปี หรือจะทำแยกเป็นรายงานต่างหากก็ได้ โดยปัจจุบันรูปแบบรายงานที่เป็นมาตรฐานสากล คือ แนวทางของ Global Reporting Initiative (GRI)