คำอธิบายสรุปสาระสำคัญพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546
(ส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า)
1. ความมุ่งหมายของกฎหมาย
จากการที่ตลาดการเงินของประเทศไทยเชื่อมโยงกับตลาดการเงินของโลก ประกอบกับผู้ประกอบการหรือผู้ลงทุนสามารถใช้สัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง แต่ในอดีตสถานภาพของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้ายังไม่มีกฎหมายรองรับ ผู้ที่ทำสัญญาโดยสุจริตยังมีความเสี่ยงว่าสัญญาจะมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่ ดังนั้น จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 ขึ้น เพื่อสร้างความชัดเจนทางกฎหมายเกี่ยวกับการบังคับตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า รองรับการมีหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และตัวกลางที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น รวมทั้งกำหนดให้ทางการเป็นผู้กำกับดูแลนโยบายและผลกระทบของการทำธุรกรรมต่อตลาดทุนโดยรวม
2. นิยามที่เกี่ยวข้อง
2.1 การซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หมายถึงการเข้าผูกพันตามสัญญา ดังต่อไปนี้ (มาตรา 3)
(1) สัญญาที่กำหนดให้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งส่งมอบสินค้า เช่น หลักทรัพย์ ทองคำ หรือน้ำมันดิบ เป็นต้น ให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นผู้ชำระราคา ณ เวลาใด เวลาหนึ่งในอนาคต เป็นจำนวนและราคาตามที่กำหนดไว้ในสัญญา (physical delivery)
(2) สัญญาที่กำหนดให้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้รับชำระเงิน หรือต้องชำระเงินให้แก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเท่ากับจำนวนเงินที่คำนวณได้จากส่วนต่างระหว่างราคา หรือมูลค่าของสินค้า หรือตัวแปร เช่น อัตราแลกเปลี่ยนเงิน อัตราดอกเบี้ย ดัชนีทางการเงินหรือดัชนีกลุ่มหลักทรัพย์ ที่กำหนดไว้ในสัญญากับราคา หรือมูลค่าของสินค้า หรือตัวแปรที่เป็นอยู่ ณ เวลาใดเวลาหนึ่งหรือช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคตตามที่กำหนดไว้ในสัญญา (cash settlement)
(3) สัญญาที่กำหนดให้สิทธิแก่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งที่จะเรียกให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งส่งมอบสินค้า หรือชำระราคาของสินค้า หรือชำระเงินที่คำนวณได้จากส่วนต่างระหว่างราคา หรือมูลค่าของสินค้า หรือตัวแปรที่กำหนดไว้ในสัญญากับราคา หรือมูลค่าของสินค้า หรือตัวแปรที่เป็นอยู่ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง หรือช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคตตามที่กาหนดไว้ในสัญญาหรือเรียกให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเข้าทำสัญญาตาม (1) หรือ (2) (contract for difference)
ทั้งนี้ การซื้อขายสัญญาดังต่อไปนี้ไม่อยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ. สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (มาตรา 4)
(1) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่กำหนดให้มีการชำระเงิน ที่คำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินหรืออัตราดอกเบี้ย และการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดังกล่าวนอกศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
(2) สัญญาซื้อหรือขายหลักทรัพย์โดยมีข้อตกลงว่าจะขายหรือซื้อคืนซึ่งหลักทรัพย์ดังกล่าว
(3) สัญญาหรือการซื้อขายใด ๆ ตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด เช่น สัญญาซื้อขายหลักทรัพย์ ทองคำ หรือน้ำมันดิบ ที่กำหนดให้คู่สัญญาส่งมอบสินค้าให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งได้ทำสัญญาดังกล่าวนอกศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือไม่มีข้อกำหนดที่อนุญาตให้คู่สัญญาฝ่ายที่มีหน้าที่ส่งมอบสินค้าสามารถชำระเงินหรือส่วนต่างของราคาสินค้า (settle by cash) หรือทำการหักกลบลบหนี้กับคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง (set-off) แทนการส่งมอบสินค้าได้ และธรรมเนียมปฏิบัติในการทำสัญญาดังกล่าวไม่เปิดช่องให้คู่สัญญาฝ่ายที่มีหน้าที่ส่งมอบสินค้าหลุดพ้นจากหน้าที่ตามสัญญาดังกล่าวด้วยการทำสัญญาขึ้นใหม่ที่มีผลในทางตรงกันข้าม (close-out) กับสัญญาเดิม เป็นต้น
2.2 การประกอบธุรกิจของผู้ประกอบสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (“ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ") ได้แก่ การให้บริการ ดังต่อไปนี้ (มาตรา 3)
(1) การเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า : บุคคลซึ่งให้บริการหรือแสดงต่อบุคคลทั่วไปว่าพร้อมจะให้บริการเป็นตัวแทนในการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับบุคคลอื่น โดยกระทำเป็นทางค้าปกติ
(2) การเป็นผู้ค้าสัญญาซื้อขายล่วงหน้า : บุคคลซึ่งแสดงต่อบุคคลทั่วไปว่าพร้อมจะเข้าเป็นคู่สัญญาซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ให้แก่ผู้ซึ่งประสงค์จะซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยการเสนอเข้าหรือเข้าเป็นคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยกระทำเป็นทางค้าปกติ แต่ไม่รวมถึงบุคคลซึ่งเสนอซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อตนเองในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
(3) การเป็นที่ปรึกษาสัญญาซื้อขายล่วงหน้า : บุคคลซึ่งให้คำแนะนำหรือแสดงต่อบุคคลทั่วไปว่าพร้อมจะให้คำแนะนำ ไม่ว่าโดยทางตรง หรือทางอ้อมแก่บุคคลอื่นเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือความเหมาะสม ในการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยกระทำเป็นทางค้าปกติ แต่ไม่รวมถึงบุคคลซึ่งให้คำแนะนำที่เป็นส่วนหนึ่งหรือเกี่ยวเนื่องกับการเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือผู้ค้าสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
(4) การเป็นผู้จัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้า : บุคคลซึ่งเข้าจัดการเงินทุนหรือแสดงต่อบุคคลทั่วไปว่าพร้อมจะรับจัดการเงินทุนให้แก่บุคคลอื่น เพื่อแสวงหาประโยชน์จากสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโดยกระทำเป็นทางค้าปกติ
(5) กิจการอื่นที่เกี่ยวกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด : ปัจจุบันยังไม่มีประกาศกำหนด
3. สรุปสาระสำคัญของกฎหมาย
3.1 การกำกับดูแลสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (มาตรา 9-15)
หน้าที่ในการกำกับดูแลสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของคณะกรรมการ ก.ล.ต. และสำนักงาน สรุปได้ดังนี้
(1) คณะกรรมการ ก.ล.ต.
วางนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนา ตลอดจนกำกับดูแลในเรื่องสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สำนักหักบัญชี สัญญาซื้อขายล่วงหน้า สมาคมกำกับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ และการป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
การดำเนินการอื่น เช่น การออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง การกำหนดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการขออนุญาตและการขอจดทะเบียน การกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการใช้บังคับกฎหมาย (มาตรา 9) เป็นต้น รวมถึงการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมให้ผู้ที่อยู่ภายใต้กำกับดูแลปฏิบัติได้ ในกรณีที่มีความจำเป็น (มาตรา 10)
มีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการตามที่มอบหมายได้ โดยมีการกำหนดเกณฑ์เกี่ยวกับการประชุมคณะอนุกรรมการและประโยชน์ตอบแทนตามที่รัฐมนตรีกำหนด (มาตรา 11 และมาตรา 12 และมาตรา 13)
(2) สำนักงาน ก.ล.ต.
ปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการ ก.ล.ต. และบทบัญญัติภายใต้ พ.ร.บ. ซึ่งรวมถึงการรับค่าปรับที่เป็นโทษปรับทางปกครองและค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บ และการออกประกาศหรือคำสั่งตาม พ.ร.บ. (มาตรา 14)
มีหน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สมาคมกำกับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. นี้ รวมถึงข้อมูลอื่น ๆ ที่ได้รับเนื่องจากการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. นี้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด (มาตรา 15)
3.2 ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
3.2.1 การกำกับควบคุมธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (มาตรา 16-20)
ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ
|
| ระบบใบอนุญาต (ให้ใบอนุญาต โดยคณะกรรมการ ก.ล.ต.) | ระบบจดทะเบียน (กับสำนักงาน) |
การขอประกอบธุรกิจ
| คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนดหลักเกณฑ์ |
| | ต้องเป็นนิติบุคคลประเภทธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ หรือ นิติบุคคลอื่นตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด มีการประกอบธุรกิจกับผู้ลงทุนสถาบันเท่านั้น (ยกเว้นกรณีของผู้จัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ประกอบธุรกิจให้แก่ผู้ลงทุนสถาบันที่เป็นกองทุนรวม ต้องใช้ระบบใบอนุญาต)
|
| |
การกำกับ การประกอบธุรกิจ
| |
การเลิก ประกอบธุรกิจ | |
3.2.2 หลักเกณฑ์สำหรับผู้ได้รับใบอนุญาต (มาตรา 21-30)
ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ที่ได้รับใบอนุญาต ยังมีกฎเกณฑ์เพิ่มเติมที่ต้องปฏิบัติตาม เช่น เรื่อง
- การประกอบธุรกิจอื่นต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต.
- ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ที่เป็นบุคคลธรรมดาต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนด
- กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ เป็นนิติบุคคล : ผู้บริหาร และผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (ทั้งกรณีที่เป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล ซึ่งถือหุ้นหรือรับประโยชน์จากหุ้น เกินกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด) ของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดและต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
- การจัดทำบัญชีแสดงผลการดำเนินงาน การจัดทำงบการเงินและส่งงบการเงิน (ไม่รวมถึงที่ปรึกษาสัญญาซื้อขายล่วงหน้า) ให้แก่สำนักงาน ก.ล.ต. รวมถึงการเปิดเผยงบการเงินต่อประชาชน โดยงบการเงินต้องผ่านการตรวจสอบและแสดงความเห็นโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตที่สำนักงานให้ความเห็นชอบ
3.2.3 การปฏิบัติต่อทรัพย์สินของลูกค้าและการคุ้มครองทรัพย์สินลูกค้า (มาตรา 31-46)
บทบัญญัติในส่วนนี้ใช้บังคับกับผู้ได้รับใบอนุญาตประเภทตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ในกรณีที่สมควร คณะกรรมการกำกับตลาดทุนกำหนดให้บทบัญญัตินี้บังคับใช้กับธุรกิจประเภทอื่นได้) โดย
(1) มาตรา 31-36 ของ พ.ร.บ. กำหนดบทบัญญัติในการปฏิบัติต่อทรัพย์สินของลูกค้า เพื่อให้มั่นใจได้ว่าทรัพย์สินของลูกค้าที่อยู่ในความดูแลของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ มีความปลอดภัยและครบถ้วนอยู่ในลักษณะที่สามารถชี้เฉพาะได้ว่าเป็นทรัพย์สินของลูกค้า โดยผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ต้อง
- จัดเก็บทรัพย์สินของลูกค้าแยกออกจากทรัพย์สินของตน
- จัดทำบัญชีทรัพย์สินของลูกค้าแต่ละรายแยกออกจากบัญชีทรัพย์สินของตนและเก็บรักษาบัญชี
- ห้ามนำทรัพย์สินของลูกค้าไปใช้ เว้นแต่เป็นกรณีที่ได้รับการยกเว้น และในกรณีที่ทรัพย์สินเป็นเงิน การที่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ นำไปแสวงหาผลประโยชน์อื่นใดจะต้องได้รับความยินยอมจากลูกค้าและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนกำหนด ในกรณีทรัพย์สินของลูกค้าเป็นหลักทรัพย์ ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ อาจโอนหลักทรัพย์ของลูกค้าไว้ในชื่อของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ เพื่อประโยชน์ของลูกค้าได้ และหากมีกรณีที่ลูกค้าผิดนัดชำระหนี้จากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาที่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ แจ้งไว้ ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ อาจนำหลักทรัพย์ที่โอนไว้ในชื่อของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ดังกล่าว ออกขายได้
(2) มาตรา 37-40 ของ พ.ร.บ. กำหนดบทบัญญัติในกรณีที่ศาลรับคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของลูกค้าหรือมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกค้าในคดีล้มละลาย รวมถึงบทยกเว้นบางบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติล้มละลายด้วย
พ.ร.บ. มีการกำหนดสิ่งที่ให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ดำเนินการได้ เช่น ล้างฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้าที่คงค้างอยู่ เป็นต้น ซึ่งหากมีทรัพย์สินเหลืออยู่ ให้มีการส่งมอบทรัพย์สินของลูกค้าให้บุคคลที่มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของลูกค้าตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย แต่หากทรัพย์สินของลูกค้ามีไม่เพียงพอกับหนี้ที่ลูกค้ามีอยู่กับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังมีบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ในการขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการหรือในคดีล้มละลายของลูกค้า
(3) มาตรา 41-46 ของ พ.ร.บ. กำหนดบทบัญญัติคุ้มครองทรัพย์สินของลูกค้า ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ตกเป็นลูกค้าตามคำพิพากษา หรือถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ทรัพย์สินที่ถือว่าเป็นของลูกค้าจะได้รับการคุ้มครอง โดยไม่ถือเป็นทรัพย์สินที่อยู่ภายใต้การยึด หรืออายัดในคดีแพ่ง หรือเป็นทรัพย์สินที่อาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ในคดีล้มละลาย โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และสำนักงาน ก.ล.ต. จะเป็นผู้มีอำนาจแยกและจัดการทรัพย์สินของลูกค้า และในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ถูกทางการสั่งระงับการดำเนินกิจการ ทรัพย์สินที่ถือว่าเป็นของลูกค้าก็ได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ พ.ร.บ. มีการกำหนดแนวทางการดำเนินการกับทรัพย์สินของลูกค้า สิทธิของลูกค้าที่ได้รับจัดสรรทรัพย์สินคืนก่อน สิทธิของลูกค้าในการขอรับชำระหนี้หากลูกค้าได้รับทรัพย์สินคืนไม่ครบจำนวนด้วย
3.2.4 การระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ (มาตรา 47 และ 48)
เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองลูกค้าและเพื่อให้การระงับข้อพิพาทเป็นไปโดยรวดเร็วและเป็นธรรม ลูกค้าอาจขอให้มีการระงับข้อพิพาททางแพ่งที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโดยอนุญาโตตุลาการซึ่งสำนักงาน ก.ล.ต. จัดให้มีขึ้นได้ โดยให้นำกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ มาใช้บังคับกับการระงับข้อพิพาทนี้โดยอนุโลม
3.2.5 มาตรการคุ้มครองทรัพย์สินของลูกค้าและระบบการชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (มาตรา 49-53)
มาตรการที่สำคัญคือ ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ต้องดำรงฐานะทางการเงินได้ตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด ซึ่งหากผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ไม่สามารถดำรงฐานะทางการเงิน หรือมีการดำเนินการอันอาจก่อความเสียหาย สำนักงานมีอำนาจสั่งการให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ (1) งดการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เว้นแต่การซื้อขายเพื่อล้างฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (2) โอนฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและทรัพย์สินของลูกค้าไปให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ รายอื่นดำเนินการแทน (3) ล้างฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้า ในกรณีที่ไม่สามารถโอนให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ รายอื่นได้ (4) ล้างฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ มีไว้เพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือ (5) กระทำการหรืองดเว้นกระทำการใด ๆ ตามที่เห็นสมควรได้
เมื่อผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง หรือมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจสั่งระงับการดำเนินการกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ และมีอำนาจดำเนินการ หรือมอบหมายให้สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นผู้ดำเนินการตาม (2) (3) หรือ (4) แทนได้ โดยเสมือนผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ เป็นผู้ดำเนินการเอง และมีผลผูกพันตามกฎหมาย
3.3 สมาคมกำกับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ (มาตรา 90 และ 91)
สมาคมที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมและกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. และอยู่ภายใต้เกณฑ์ที่กำหนด เช่น หลักเกณฑ์ในการเลือกกรรมการ การมีระบบจัดการที่มีประสิทธิภาพเกี่ยวกับข้อร้องเรียนจากลูกค้าของสมาชิกหรือระงับข้อพิพาท มีมาตรการกำกับดูแลให้สมาชิกปฏิบัติตามเกณฑ์ของสมาคมและจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจ เป็นต้น
นอกจากนี้ ในกรณีที่สมาคมมีคำสั่งลงโทษทางวินัยสมาชิก ให้สมาคมแจ้งและส่งเอกสารเรื่องการลงโทษให้แก่สำนักงาน ก.ล.ต. รวมทั้ง ในกรณีที่สมาชิกไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่สมาคมกำหนด และเป็นการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนหรือสำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด ในเรื่องเดียวกัน และสมาคมได้ดำเนินการลงโทษทางวินัยสมาชิกแล้ว คณะกรรมการกำกับตลาดทุนหรือสำนักงาน ก.ล.ต. จะไม่ลงโทษทางปกครองสมาชิกซ้ำอีกก็ได้หากเห็นว่าได้รับโทษอย่างเหมาะสมแล้ว
นอกจากนี้ ให้สมาคมเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สมาชิกของสมาคม หรือข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำความผิด เพื่อประโยชน์ของประชาชนและการคุ้มครองผู้ลงทุนด้วย
3.4 การกำกับและควบคุม (มาตรา 101 และ 102)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจในการกำกับและควบคุม โดยให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. และสำนักงานชี้แจง แสดงความเห็นหรือทำรายงานในเรื่องที่กำกับดูแลอยู่ภายใต้ พ.ร.บ. ได้
3.5 บทกำหนดโทษและอายุความ (มาตรา 111 และ 154)
โทษตาม พ.ร.บ. สัญญาซื้อขายล่วงหน้ามี 2 ประเภท ได้แก่ โทษทางปกครอง และโทษอาญา
(1) โทษทางปกครอง
ฐานความผิด | โทษทางปกครอง (มาตรา 111) |
ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ รวมทั้งนิติบุคล กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินการของนิติบุคคลนั้น ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ คำสั่ง หรือเงื่อนไขที่กำหนดในเรื่องดังต่อไปนี้ ต้องรับโทษทางปกครอง (มาตรา 114 มาตรา 119) เงื่อนไขที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนดเพิ่มเติมเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ พิทักษ์ประโยชน์ของประชาชน หรือคุ้มครองผู้ลงทุน (มาตรา 10) หลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนกำหนด เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองลูกค้า รักษาความมั่นคงของระบบการเงินหรือควบคุมเสี่ยงที่เกิดจากสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (มาตรา 18) การยื่นรายงานหรือเอกสารที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด (มาตรา 19) การยื่นคำขอเลิกประกอบธุรกิจ (มาตรา 20 วรรคหนึ่ง) การประกอบธุรกิจอื่นโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. (มาตรา 22) ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ที่เป็นบุคคลธรรมดาที่เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้าม (มาตรา 23) ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ที่เป็นนิติบุคคล แต่งตั้งกรรมการผู้จัดการ ที่มีลักษณะต้องห้าม (มาตรา 24) ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ที่ได้จ่ายเงินปันผลหรือผลประโยชน์อื่นใด สำหรับจำนวนหุ้นในส่วนที่เกินร้อยละ 10 แก่ให้ผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นเกินร้อยละ 10 แต่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. (มาตรา 25) หรือยอมให้บุคคลนั้นออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมผู้ถือหุ้นสำหรับจำนวนหุ้นส่วนที่เกินร้อยละ 10 ดังกล่าว (มาตรา 26) หลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ สัญญาฯต้องจัดเก็บทรัพย์สินของลูกค้าแยกจากทรัพย์สินของตน และหลักเกณฑ์การจัดทำและเก็บรักษาบัญชีทดรองจ่าย (มาตรา 33) ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ที่นำทรัพย์สินของลูกค้าไปใช้เพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการซื้อขาย สัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้า (มาตรา 34) ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ที่ศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการหรือพิทักษ์ทรัพย์ และมีทรัพย์สินของลูกค้าเหลืออยู่และไม่ได้ส่งมอบทรัพย์สินให้บุคคลผู้อำนาจจัดการตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย (มาตรา 38) ผู้ประกอบธุรกิจสัญญา ที่ถูกทางการหรือหน่วยงานอื่นที่มีหน้าที่กำกับดูแลตามกฎหมายอื่นสั่งระงับการดำเนินกิจการและไม่ได้แจ้งให้สำนักงาน ก.ล.ต. ทราบ (มาตรา 46 วรรคหนึ่ง) ผู้ที่ไม่ได้ชำระค่าธรรมเนียมการขออนุญาต ขอจดทะเบียน ขอความเห็นชอบ การออกใบอนุญาต การรับจดทะเบียน การให้ความเห็นชอบ หรือการประกอบกิจการตามที่ได้รับใบอนุญาต ต้องรับโทษทางปกครอง (มาตรา 118)
| (1) ภาคทัณฑ์ (2) ตำหนิโดยเปิดเผยต่อสาธารณชน (3) ปรับทางปกครอง (ค่าปรับต้องไม่เกิน 2,000,000 บาท ในแต่ละกรรม) (มาตรา 113) (4) จำกัดการประกอบการ (5) พักการประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตที่ได้จดทะเบียน หรือที่ได้รับความเห็นชอบภายในระยะเวลาที่กำหนด (6) เพิกถอนใบอนุญาต การจดทะเบียนหรือการให้ความเห็นชอบ
|
(2) โทษอาญา (โทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ แล้วแต่กรณี)
ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโดยไม่ได้รับอนุญาต / ไม่ได้จดทะเบียน (มาตรา 16 ประกอบมาตรา 125)
ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ที่ได้รับอนุญาตให้เลิกประกอบธุรกิจและฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการยื่นคำขออนุญาตเลิกประกอบธุรกิจ (มาตรา 20 วรรคสอง ประกอบมาตรา 126)
กรณีที่เป็นนิติบุคคล และการกระทำผิดเกิดจากการสั่งการ / การกระทำของกรรมการ ผู้จัดการ ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น หรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าว มีหน้าที่ต้องสั่งการ / กระทำการและละเว้นไม่สั่งการ / ไม่กระทำการ จนเป็นเหตุให้นิติบุคคลนั้นกระทำความผิด (มาตรา 126 ประกอบมาตรา 135)
ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ที่ไม่ได้จัดทำบัญชี แสดงผลการดำเนินงานและฐานะการเงินตามจริง หรือไม่ได้จัดทำและส่งงบการเงินต่อสำนักงาน ก.ล.ต. รวมทั้งไม่ได้เปิดเผยงบการเงิน (มาตรา 27 หรือมาตรา 28 ประกอบมาตรา 129)
ผู้ใดฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ต้องระวางโทษ (มาตรา 136)
ข้อห้ามการสร้างราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (มาตรา 92)
ข้อห้ามการกักตุน ทุ่มตลาด หรือควบคุมสินค้าของสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (มาตรา 94)
ข้อห้ามการบอกกล่าว แพร่ข้อความ หรือให้ คำรับรองเท็จหรือก่อให้เกิดความสำคัญผิดในสาระสำคัญ (มาตรา 95)
ข้อห้ามทำการ คาดการณ์โดยบิดเบือนข้อเท็จจริง หรือนำข้อมูลที่รู้ว่า เป็นเท็จมาใช้คาดการณ์ (มาตรา 96)
ข้อห้ามการแพร่ข้อความเพื่อสร้างราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (มาตรา 97)
ผู้ใดฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ต้องระวางโทษ (มาตรา 137)
ข้อห้ามบุคคลภายใน ที่รู้ข้อมูลภายในใช้ ข้อมูลภายในเพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือผู้อื่น (มาตรา 99)
ข้อห้ามบุคคลที่รู้ข้อมูลภายในจากการเปิดเผยตามมาตรา 99 ใช้ข้อมูลภายในเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น (มาตรา 100)
กรรมการ ผู้จัดการ พนักงาน ตัวแทนของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ที่ฉ้อโกง ยักยอก อาศัยตำแหน่งโดยทุจริต หรือทำผิดหน้าที่ (มาตรา 145)
ที่ปรึกษาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา ที่ฉ้อโกง อาศัยตำแหน่งโดยทุจริตหรือทำผิดหน้าที่ (มาตรา 146)
กรรมการ ผู้จัดการ พนักงาน หรือตัวแทนของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ที่ทำให้ทรัพย์สินของนิติบุคคลเสียหาย (มาตรา 147)
กรรมการ ผู้จัดการ พนักงาน หรือตัวแทนของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ที่กระทำหรือยินยอมให้กระทำผิดเกี่ยวกับบัญชีหรือเอกสารเพื่อลวงให้ลูกค้าขาดประโยชน์อันควรได้ (มาตรา 148)
ผู้ที่เปิดเผยกิจการที่ล่วงรู้มาจากการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ (มาตรา 153)
อายุความสำหรับความผิดที่มีโทษทางปกครองหรือที่มีโทษปรับเพียงอย่างเดียวคือ 1 ปี นับแต่วันที่พนักงานเจ้าหน้าที่วินิจฉัยว่ามีการกระทำผิด หรือ 5 ปี นับแต่วันที่มีการกระทำผิด (มาตรา 154)
หมายเหตุ คำอธิบายนี้มีขึ้นเพื่อประโยชน์ในการทำความเข้าใจสาระสำคัญของกฎหมายเท่านั้น ส่วนการปฏิบัติตามกฎหมายให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ประชาชนจะต้องศึกษา ทำความเข้าใจ ตรวจสอบ และยึดถือตัวบทกฎหมายเป็นสำคัญ
ข้อมูล ณ วันที่ 25 พฤษภาคม 2563
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ดาวน์โหลดไฟล์ pdf