การกำกับรายงานทางเงินและผู้สอบบัญชี
3. การติดตามดูแลรายงานทางการเงินของกิจการในตลาดทุน
3.1 สรุปหลักเกณฑ์การจัดทำและนำส่งงบการเงิน
3.2 หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ CFO และสมุห์บัญชี
3.3 คู่มือ แนวปฏิบัติ และหนังสือเวียนที่เกี่ยวข้อง
3.4 เอกสารประกอบการบรรยาย
3.1 สรุปหลักเกณฑ์การจัดทำและนำส่งงบการเงิน
งบการเงินและงบการเงินรวมของบริษัทต้องถูกต้องและน่าเชื่อถือ โดยจัดทำให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามมาตรา 56 และผ่านการตรวจสอบหรือสอบทาน โดยผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบ
3.1.1 การจัดทำและนำส่งงบการเงินของบริษัทมหาชนจำกัดที่ขออนุญาตเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (“IPO")
งบการเงินของบริษัทและงบการเงินรวมประจำงวดปีบัญชี 3 ปีล่าสุดและไตรมาสสุดท้ายก่อนยื่นคำขออนุญาตต้องถูกต้องและน่าเชื่อถือ โดย
• จัดทำให้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่ใช้บังคับกับบริษัทมหาชนจำกัดและเกณฑ์ที่กำหนดตามมาตรา 56
• ตรวจสอบหรือสอบทาน โดยผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบ (รายชื่อผู้สอบบัญชี)
• รายงานผู้สอบบัญชี ต้องไม่มีลักษณะ
ไม่แสดงความเห็นต่อการจัดทำงบการเงิน หรือแสดงความเห็นว่างบการเงินไม่ถูกต้อง
แสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขในรายการบัญชีที่เป็นสาระสำคัญว่า ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี
แสดงความเห็นว่าถูกจำกัดขอบเขตการตรวจสอบโดยบริษัทหรือผู้บริหาร
3.1.2 การจัดทำและนำส่งงบการเงินของบริษัทจดทะเบียน
ระยะเวลาและเงื่อนไขการนำส่งงบการเงินของบริษัทไทยที่มีหุ้นเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (บริษัท listed) มีดังนี้
กรณีทั่วไป
- งบการเงินไตรมาส 1 ไตรมาส 2** และไตรมาส 3 ฉบับสอบทาน ภายใน 45 วันนับแต่วันสุดท้ายของแต่ละไตรมาสดังกล่าว
- งบการเงินประจำรอบปีบัญชี ฉบับตรวจสอบ ภายใน 2 เดือนนับแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี
กรณีส่งงบการเงินไตรมาส 4 ฉบับสอบทาน ก่อนส่งงบการเงินประจำรอบปีบัญชี ฉบับตรวจสอบ
- งบการเงินไตรมาส 1 ไตรมาส 2** ไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ฉบับสอบทาน ภายใน 45 วันนับแต่วันสุดท้ายของแต่ละไตรมาสดังกล่าว
- งบการเงินประจำรอบปีบัญชี ฉบับตรวจสอบ ภายใน 3 เดือนนับแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี
หมายเหตุ: **เลือกส่งงบการเงินไตรมาส 2 หรืองบการเงินประจำงวด 6 เดือน ที่ผ่านการตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีก็ได้ หากเลือกส่งงบการเงินประจำงวด 6 เดือน ให้ส่งงบการเงินดังกล่าวภายใน 2 เดือนนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลา 6 เดือนแรกของปีบัญชี
งบการเงินของบริษัท listed ต้องถูกต้องและน่าเชื่อถือ โดย
• จัดทำให้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่ใช้บังคับกับบริษัทมหาชนจำกัดและเกณฑ์ที่กำหนดตามมาตรา 56
• ตรวจสอบหรือสอบทาน โดยผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบ (รายชื่อผู้สอบบัญชี)
• รายงานผู้สอบบัญชี ต้องไม่มีลักษณะ
o ไม่แสดงความเห็นต่อการจัดทำงบการเงิน หรือแสดงความเห็นว่างบการเงินไม่ถูกต้อง
o แสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขในรายการบัญชีที่เป็นสาระสำคัญว่า ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี
o แสดงความเห็นว่าถูกจำกัดขอบเขตการตรวจสอบโดยบริษัทหรือผู้บริหาร
การจััดทำงบการเงินและรายงานตามมาตรา 56
3.2 หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ CFO และสมุห์บัญชี
3.2.1 คุณสมบัติ CFO และสมุห์บัญชี
ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบสูงสุดในสายงานบัญชีและการเงิน (“CFO") และผู้ที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบโดยตรงในการควบคุมดูแลการทำบัญชี (“สมุห์บัญชี") ต้องมีคุณวุฒิการศึกษา ประสบการณ์ทำงาน และผ่านการอบรมความรู้ด้านบัญชี
3.2.2 การอบรมเตรียมความพร้อมทางบัญชีและการเงินหรือการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องด้านบัญชีของ CFO และสมุห์บัญชี
CFO และสมุห์บัญชี ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรการเตรียมความพร้อมทางบัญชีและการเงิน (“orientation course") หรือหลักสูตรการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องด้านบัญชี การกำหนดเกณฑ์ดังกล่าวเป็นไปเพื่อให้มั่นใจได้ว่า CFO และสมุห์บัญชี ได้รับการพัฒนาความรู้ความสามารถอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น สำนักงานจึงกำหนดแนวทางปฏิบัติในการเข้ารับการอบรม ดังต่อไปนี้
จำนวนชั่วโมงการอบรม
CFO และสมุห์บัญชีต้องผ่านการอบรม ดังต่อไปนี้
CFO
CFO ต้องผ่านการอบรม orientation course ไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมง ก่อนวันที่บริษัทผู้ขออนุญาตยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงาน
ปีต่อมา CFO ต้องผ่านการอบรมพัฒนาความรู้อย่างต่อเนื่องทางด้านบัญชี ไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อปีปฏิทิน อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ CFO ไม่ได้เข้ารับการอบรมพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางด้านบัญชีในปีต่อ ๆ มาหลังจากผ่านการอบรม orientation course CFO ต้องเข้ารับการอบรมพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางด้านบัญชีอย่างน้อย 6 ชั่วโมง ก่อนวันที่บริษัทผู้ขออนุญาตยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงาน
สมุห์บัญชี
กรณีบริษัทไทย สมุห์บัญชีต้องเป็นผู้ทำบัญชีที่มีคุณสมบัติและเงื่อนไขของการเป็นผู้ทำบัญชีตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในกรณีที่สมุห์บัญชีเข้ารับการอบรมพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางด้านบัญชีที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้ว ให้ถือว่าผ่านการอบรมพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางด้านบัญชีตามข้อกำหนดของประกาศฯ ที่ ทจ. 39/2559 ด้วย
กรณีบริษัทต่างประเทศ สมุห์บัญชีต้องผ่านการอบรมพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางด้านบัญชี ไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อปฏิทิน
ขอบเขตเนื้อหาการอบรม
เนื้อหาการอบรมจะต้องเป็นความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของ CFO และสมุห์บัญชี ซึ่งได้แก่
หลักสูตร orientation โดยเนื้อหาของการอบรมจะว่าด้วยการทำหน้าที่ของ CFO ที่เกี่ยวข้องกับงบการเงิน การวิเคราะห์งบการเงิน หลักการและผลกระทบของมาตรฐานการบัญชีต่องบการเงิน ซึ่งจัดอบรมโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน เช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นต้น ได้แก่หลักสูตรดังนี้
หลักสูตร CFO Focus on Financial Reporting ซึ่งจัดโดยสภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ (โดยสามารถนับจำนวนชั่วโมงของการอบรมในหลักสูตรดังกล่าว ที่มีการจัดอบรมก่อนวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ)
หลักสูตร Strategic CFO in Capital Markets สำหรับ Module: CFO and Financial Information Management ซึ่งจัดโดยศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ตลาดทุน (TSI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (โดยสามารถนับชั่วโมงการอบรมในหลักสูตรดังกล่าวที่มีการจัดอบรมก่อนวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ)
หลักสูตร Strategic Financial Leadership Beyond Accounting: Strategies to improve performance and financial management for sustainable success ซึ่งจัดโดยสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย (โดยสามารถนับชั่วโมงของการอบรมในหลักสูตรดังกล่าว ที่มีการจัดอบรมก่อนวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ)
หลักสูตร CFO's Orientation Course for New IPOs ซึ่งจัดโดยศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ตลาดทุน (TSI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (โดยสามารถนับชั่วโมงของการอบรมในหลักสูตรดังกล่าว ที่มีการจัดอบรมก่อนวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ)
หลักสูตร e-learning CFO's Orientation Course (English Version : for foreigners only) ซึ่งจัดโดยศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ตลาดทุน (TSI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
หลักสูตร e-learning CFO’s Orientation Course for New IPOs (Thai
Version) ซึ่งจัดโดยศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ตลาดทุน
(TSI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
การพัฒนาความรู้ต่อเนื่องด้านบัญชี โดยเนื้อหาของการอบรมจะว่าด้วยหลักการและผลกระทบของมาตรฐานการบัญชีที่มีในปัจจุบันหรือมาตรฐานการบัญชีใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับลักษณะธุรกิจหรือคาดว่าจะมีผลกระทบต่อการจัดทำงบการเงินของบริษัทโดยมีรูปแบบของกิจกรรมเป็นดังนี้
การเข้าอบรมหรือสัมมนา ที่จัดโดยหน่วยงานใด ๆ ที่สามารถนับเป็นจำนวนชั่วโมงการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพด้านบัญชีตามที่สภาวิชาชีพบัญชีกำหนด (ชั่วโมง CPD ที่เป็นทางการ สำหรับผู้ทำบัญชีหรือผู้สอบบัญชีด้านบัญชี) หรือจัดโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน เช่น ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ตลาดทุน (TSI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย เป็นต้น
การเข้าอบรมหรือสัมมนาซึ่งจัดภายในองค์กรของบริษัทผู้ขออนุญาต (in-house training) ต้องมีเนื้อหาการอบรมทางด้านบัญชีที่ว่าด้วยหลักการและผลกระทบของมาตรฐานการบัญชีที่สอดคล้องกับลักษณะธุรกิจหรือคาดว่าจะมีผลกระทบต่อการทำงบการเงินของบริษัท และวิทยากร/ผู้บรรยายต้องเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่จะอบรม หรือมีประสบการณ์ทำงานหรือการสอนในสาขานั้น ๆ อย่างเหมาะสม ซึ่งเนื้อหาและจำนวนชั่วโมงอบรมของหลักสูตรได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการตรวจสอบแล้วว่าสอดคล้องและเป็นประโยชน์ต่อบริษัทและเป็นไปตามกรอบเนื้อหาตามที่กำหนดข้างต้น
อนึ่ง การเป็นวิทยากรหรือผู้บรรยายความรู้ สามมารถนับเป็นชั่วโมงการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องด้านบัญชีได้ ในกรณีที่เป็นวิทยากรหรือผู้บรรยายความรู้ตามหลักสูตรการพัฒนาความต่อเนื่องด้านบัญชี
หมายเหตุ
ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ตลาดทุน (TSI) ปัจจุบันใช้ชื่อว่า
กลุ่มงานพัฒนาความรู้ตลาดทุน
3.3 คู่มือ แนวปฏิบัติ และหนังสือเวียนที่เกี่ยวข้อง
3.4 เอกสารประกอบการบรรยาย