Sign In
โครงการปฏิรูปกฎเกณฑ์ด้านตลาดทุน เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้แก่ภาคธุรกิจและลดภาระของประชาชน (Regulatory Guillotine)

1. Regulatory Guillotine คืออะไร

Regulatory Guillotine คือ การทบทวนกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน โดยใช้วิธีที่รวดเร็วโปร่งใส ใช้ต้นทุนต่ำ และมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

​​

2. ก.ล.ต. กับ การปฏิรูปกฎเกณฑ์ด้านตลาดทุน

ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานภาครัฐด้านตลาดทุน ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจด้วยการมีกฎระเบียบที่ได้มาตรฐานและอำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจ จึงได้กำหนดให้มีโครงการสำคัญคือปรับปรุงกฎเกณฑ์ (Regulatory Guillotine) เพื่อลดขั้นตอน กระบวนการและ/หรือ จำนวนเอกสารที่ต้องยื่นต่อ ก.ล.ต. รวมทั้งทบทวนกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบันและมีเท่าที่จำเป็น ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นให้แก่ภาคธุรกิจและสอดคล้องกับหลักการในมาตรา 77 และมาตรา 258 ค. ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 [1] โดยในปัจจุบัน ก.ล.ต. ได้ดำเนินโครงการ Regulatory Guillotine อย่างต่อเนื่อง และมีโครงการย่อยภายใต้โครงการ Regulatory Guillotine รวมทั้งสิ้น 88 โครงการย่อยที่ครอบคลุมทุกด้านของตลาดทุน ซึ่งจะทยอยดำเนินการให้แล้วเสร็จในช่วงปี 2563 – 2566 และจากการประเมินในเบื้องต้นคาดว่า หากแล้วเสร็จครบทุกโครงการจะช่วยลดภาระและต้นทุนการดำเนินการของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องได้
 251.7 ล้านบาทต่อปี ลดระยะเวลาดำเนินการได้ 2.34 แสนชั่วโมงต่อปี และลดจำนวนกระดาษได้มากกว่า 2 ล้านแผ่นต่อปี​


 

3. โครงการย่อยที่ดำเนินการแล้วเสร็จ ณ ปัจจุบัน

ก.ล.ต. มุ่งมั่นในการเดินหน้าดำเนินโครงการ Regulatory Guillotine อย่างต่อเนื่องและจริงจัง โดยในปัจจุบันมีโครงการย่อยที่ดำเนินการแล้วเสร็จรวม 81 โครงการ ได้แก่

3.1 โครงการ​เพิ่มช่องทางการยื่นแบบคำขอความเห็นชอบเป็นผู้สอบบัญชีในตลาดทุนซึ่งลงลายมือชื่อดิจิทัล โดยทาง e-mail โดยปรับปรุงคู่มือสำหรับประชาชน เพื่อให้ถือว่า ก.ล.ต. ได้รับแบบคำขอความเห็นชอบในรูปแบบกระดาษ ตามวันเวลาที่แสดงว่า ก.ล.ต. ได้รับ e-mail ซึ่งจะช่วยลดภาระในการยื่นแบบคำขอความเห็นชอบเป็นกระดาษร้อยละ 100 สำหรับผู้สอบบัญชีที่เลือกใช้ช่องทางนี้


3.2 โครงการทบทวนการนำส่งบทสรุปประเภทรายงานของผู้สอบบัญชี (แบบ 61-4) โดยยกเลิกหน้าที่การจัดทำและนำส่งแบบ 61-4 ของภาคเอกชน

3.3 โครงการปรับปรุงรอบระยะเวลาการจัดทำและจัดส่งแบบรายงานของบริษัทจัดการเงินร่วมลงทุน และการจัดส่งงบการเงินของนิติบุคคลร่วมลงทุนเพื่อลดภาระของภาคเอกชน โดยลดการจัดทำและจัดส่งแบบรายงานของบริษัทจัดการเงินร่วมลงทุนเหลือปีละ 1 ครั้ง และยกเลิกการจัดส่งงบการเงินสำหรับงวดการบัญชีในรอบระยะเวลา 6 เดือน ของนิติบุคคลร่วมลงทุน

3.4 โครงการปรับปรุงแบบแสดงรายการข้อมูลเสนอขายตราสารหนี้ (แบบ filing) โดยยุบรวมแบบ filing จากเดิมที่มีอยู่ทั้งหมด 32 แบบ ให้เหลือเพียง 13 แบบ ส่งผลให้จำนวนแบบ filing ที่ภาคเอกชนต้องนำส่งต่อ ก.ล.ต. ลดลง ถึงร้อยละ 60

3.5 โครงการยกเลิกประกาศที่เกี่ยวข้องกับการออกและเสนอขายตราสารหนี้ที่หมดอายุ/ไม่ใช้งานแล้ว โดยยกเลิกประกาศที่ไม่ใช้งานแล้ว เพื่อให้เกิดความชัดเจนและป้องกันความสับสนของประชาชน

3.6 โครงการพัฒนากระบวนการยื่นขออนุมัติจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม แบบไร้กระดาษ (paperless) โดยพัฒนาระบบและปรับปรุงหลักเกณฑ์การขออนุมัติจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม รวมทั้งการยื่นเอกสารประกอบคำขอผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (ระบบ OFAM) โดยไม่ต้องส่งเอกสารเป็นกระดาษมายัง ก.ล.ต. อีกส่งผลให้เป็นการปลดภาระของภาคเอกชนในการจัดส่งคำขอและเอกสารประกอบคำขอเป็นกระดาษทั้งหมด หรือร้อยละ 100

3.7 โครงการทบทวนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุน โดยยกเลิกข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ซึ่งจะช่วยลดภาระผู้ประกอบธุรกิจในการจัดเก็บข้อมูลของผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ถือหน่วยลงทุนและการติดตามตรวจสอบสัดส่วนการถือหน่วยลงทุนของผู้ถือหน่วยลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ถือหน่วยลงทุน

3.8 โครงการยกเลิกประกาศการรายงานผลการเสนอขายหน่วยลงทุนต่อประชาชน และการตั้งตัวแทนสนับสนุนการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุน โดยยกเลิกประกาศที่ไม่ใช้งานแล้ว เพื่อให้เกิดความชัดเจนและป้องกันความสับสนของประชาชน

3.9 โครงการยกเลิกกฎกระทรวงและประกาศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยยกเลิกกฎกระทรวงและประกาศที่ไม่ใช้งานแล้ว เพื่อให้เกิดความชัดเจนและป้องกันความสับสนของประชาชน

3.10 โครงการปรับปรุงแนวทางควบคุมการปฏิบัติงานของผู้ประกอบธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (broker) และค้าหลักทรัพย์ (dealer) ที่มิใช่ตราสารแห่งหนี้ แนวปฏิบัติในการประกอบธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ โดยยกเลิกข้อกำหนดที่ซ้ำซ้อน เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน

3.11 โครงการปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับการดำรงเงินกองทุน โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่ไม่จำเป็น ล้าสมัย เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน รวมถึงปรับปรุงรูปแบบให้ง่ายต่อการใช้งาน

3.12 โครงการปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับการให้บริการลูกค้าไปลงทุนในต่างประเทศ โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่ไม่จำเป็น ล้าสมัย เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน รวมถึงปรับปรุงรูปแบบให้ง่ายต่อการใช้งาน

3.13 โครงการขอความเห็นชอบระเบียบหรือข้อบังคับของสำนักหักบัญชีหรือศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ โดยกำหนดข้อยกเว้นระเบียบหรือข้อบังคับที่ไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

3.14 โครงการขอความเห็นชอบกฎเกณฑ์หรือระเบียบหรือข้อบังคับของศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและสำนักหักบัญชีล่วงหน้า โดยกำหนดลักษณะกฎเกณฑ์หรือระเบียบหรือข้อบังคับที่ไม่ต้องขอรับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

3.15 โครงการทบทวนระเบียบวิธีปฏิบัติของ ก.ล.ต. ว่าด้วยการรับส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยปรับปรุงระเบียบวิธีปฏิบัติของ ก.ล.ต. เพื่อรองรับการยื่นหนังสือแสดงความตกลงในการนำส่งข้อมูลและแต่งตั้งผู้กำหนดเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ (แบบ EF-2) หนังสือแสดงความตกลงในการนำส่งข้อมูลและแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ (แบบEF-3) หนังสือเพิกถอนผู้กำหนดเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการหรือเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ (แบบ EF-4) ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ต้องส่งเอกสารกระดาษมายัง ก.ล.ต. 

3.16 โครงการยกเลิกประกาศกลุ่มออกเสนอขายตราสารทุน โดยยกเลิกประกาศที่ไม่ใช้งานแล้ว เพื่อให้เกิดความชัดเจนและป้องกันความสับสนของประชาชน

3.17 โครงการทบทวนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดการกองทุน โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่ไม่จำเป็น ล้าสมัย เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน รวมถึงปรับปรุงรูปแบบให้ง่ายต่อการใช้งาน

3.18 โครงการปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับการให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าระหว่างผู้ค้าหลักทรัพย์ การให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ กิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ และการจัดการเงินร่วมลงทุน โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่ไม่จำเป็น ล้าสมัย เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน รวมถึงปรับปรุงรูปแบบให้ง่ายต่อการใช้งาน

3.19 โครงการแก้ไขประกาศว่าด้วยการให้ความเห็นชอบผู้สอบบัญชีในตลาดทุน โดยปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้สอบบัญชีในตลาดทุนให้เหมาะสมกับบริบทของวิชาชีพสอบบัญชีในปัจจุบัน และลดอุปสรรคที่เกิดจากข้อกำหนดในการยื่นคำขอความเห็นชอบหรือการรักษาสถานภาพการเป็นผู้สอบบัญชีในตลาดทุนที่สร้างภาระเกินความจำเป็น เช่น การผ่อนปรนคุณสมบัติของผู้สอบบัญชีในตลาดทุนเกี่ยวกับประสบการณ์ในการปฏิบัติงานสอบบัญชี รวมทั้งจำนวนและลักษณะของกิจการที่จะต้องปฏิบัติงานสอบบัญชี และผ่อนผันให้ผู้สอบบัญชีที่ไม่สามารถรักษาคุณสมบัติในเรื่องการดำรงตำแหน่งในสำนักงานสอบบัญชีมีระยะเวลาในการแก้ไขคุณสมบัติ เป็นต้น

3.20 โครงการยกเลิกประกาศที่ไม่ใช้แล้วเกี่ยวกับกองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน (กอง 3) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) และการแปลงสภาพกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (กอง 1) โดยยกเลิกประกาศที่ไม่ใช้งานแล้ว เพื่อให้เกิดความชัดเจนและป้องกันความสับสนของประชาชน 

3.21 โครงการทบทวนกระบวนการรับรองความถูกต้องของแบบ filing ด้วย Digital Signature โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้ผู้เสนอขายหลักทรัพย์สามารถยื่นคำขออนุญาตและแบบ filing พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานต่อ ก.ล.ต. ในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมทั้งเพิ่มทางเลือกให้กรรมการใช้ digital signature ในการรับรองความถูกต้องของข้อมูลในแบบ filing ได้

3.22 โครงการทบทวนกระบวนการและช่องทางการยื่นคำขอจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (กอง Infra) ให้เป็น paperless เพื่อให้เอกชนสามารถยื่นขอจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานได้ผ่านช่องทาง electronic

3.23 โครงการปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับผู้ดูแลผลประโยชน์ เพื่อปรับปรุงรูปแบบการจัดส่งข้อมูลจากผู้ประกอบธุรกิจมายัง ก.ล.ต. ให้อยู่ในรูปแบบ electronic

3.24 โครงการปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับการตั้งตัวแทนในการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนและตัวแทนด้านการตลาดกองทุนส่วนบุคคล เพื่อปรับปรุงรูปแบบการจัดส่งข้อมูลจากผู้ประกอบธุรกิจมายัง ก.ล.ต. ให้อยู่ในรูปแบบ electronic

3.25 โครงการปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับการชำระบัญชีกองทุนรวม เพื่อยกเลิกการจัดส่งข้อมูลบางประเภท และปรับปรุงรูปแบบการจัดส่งข้อมูลจากผู้ประกอบธุรกิจมายัง ก.ล.ต. ให้อยู่ในรูปแบบ electronic 

3.26 โครงการปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับผู้รับฝากทรัพย์สิน เพื่อปรับปรุงรูปแบบการจัดส่งข้อมูลจากผู้ประกอบธุรกิจมายัง ก.ล.ต. ให้อยู่ในรูปแบบ electronic

3.27 โครงการปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับบริษัทจัดอันดับกองทุนรวม เพื่อปรับปรุงรูปแบบการจัดส่งข้อมูลจากผู้ประกอบธุรกิจมายัง ก.ล.ต. ให้อยู่ในรูปแบบ electronic

3.28 โครงการปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับการจัดส่งสำเนางบการเงินและรายงานการสอบบัญชีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อปรับปรุงรูปแบบการจัดส่งข้อมูลจากผู้ประกอบธุรกิจมายัง ก.ล.ต. ให้อยู่ในรูปแบบ electronic

3.29 โครงการยกเลิกการจัดส่งข้อมูลจากบริษัทจัดการมายัง ก.ล.ต. เพื่อลดภาระต้นทุนของผู้ประกอบธุรกิจ

3.30 โครงการปรับปรุงการจัดส่งข้อมูลจากบริษัทจัดการมายัง ก.ล.ต. เพื่อปรับปรุงรูปแบบการจัดส่งข้อมูลจากผู้ประกอบธุรกิจมายัง ก.ล.ต. ให้อยู่ในรูปแบบ electronic

3.31 โครงการยกเลิกการจัดส่งข้อมูลจากบริษัทหลักทรัพย์มายัง ก.ล.ต. เพื่อลดภาระต้นทุนของผู้ประกอบธุรกิจ​

3.32 โครงการทบทวนกระบวนการ หลักเกณฑ์ ช่องทางการจัดส่งและเอกสารที่ภาคเอกชนต้องจัดส่งต่อ ก.ล.ต. เกี่ยวกับ

(1) การออกและเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ประเภท หน่วยของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT)  และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

(2) การลงลายมือรั​บรอง filing ในวันนับ 1 filing ให้เหลืออย่างน้อยกรรมการที่มีอำนาจลงนามตามหนังสือรับรอง เพื่อลดภาระและอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคเอกชน

3.33 โครงการปรับปรุงประกาศการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ประเภทตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ (DR) เพื่อลดภาระต้นทุนของภาคเอกชน

3.34 โครงการปรุงหลักเกณฑ์ของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (กอง 1) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานและ และทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ให้สอดคล้องกัน เพื่อให้มีความสอดคล้องกัน

3.35 โครงการปรับลดเอกสารประกอบคำขอหรือการรายงานที่ไม่จำเป็นของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (กอง 1) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน และการปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขอความเห็นชอบเป็นผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน

3.36 โครงการปรับปรุงรายละเอียดโครงการจัดการกองทุนรวม เพื่อลดภาระและต้นทุนจากการแก้ไขรายละเอียดโครงการ

3.37 โครงการยกเลิกประกาศเกี่ยวกับโครงการทดสอบนวัตกรรมในกระบวนการรวบรวมและประเมินข้อมูลของลูกค้า (KYC Regulatory Sandbox) โดยยกเลิกประกาศที่ไม่จำเป็น เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน

3.38 โครงการรวมประกาศการกำหนดประเภทธุรกรรมทรัสต์ในตลาดทุนให้อยู่ในประกาศเดียวกัน เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน

3.39 โครงการปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการรายงานผลการขายหลักทรัพย์ที่ได้รับยกเว้นการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (filing) เพื่อลดรายการข้อมูลที่ต้องแสดงในรายงานผลการขายให้เหลือเท่าที่จำเป็นในการกำกับดูแลการเสนอขายให้อยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับยกเว้นการยื่น แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (filing)

3.40 โครงการปรับปรุงกฎเกณฑ์ในการออกและเสนอขายหลักทรัพย์แปลงสภาพและหุ้นรองรับหลักทรัพย์แปลงสภาพต่อผู้ถือหุ้นเดิมที่ไม่ติดข้อจำกัดของกฎหมายต่างประเทศ หรือต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยไม่ต้องยื่นคำขออนุญาตและแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (filing) ก่อนการเสนอขาย เพื่อลดขั้นตอนและเพิ่มความคล่องตัวให้แก่ภาคธุรกิจ

3.41 โครงการยกเลิกประกาศในกลุ่มธุรกิจตัวกลางที่ไม่จำเป็น ล้าสมัย หรือไม่ได้ใช้งาน เพื่อให้เกิดความชัดเจนและป้องกันความสับสนของประชาชน

3.42 โครงการปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่ไม่จำเป็น ล้าสมัย และเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน

3.43 โครงการปรับปรุงรูปแบบการนำส่งรายงานจากผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า และทรัสตี ให้เป็นรูปแบบ electronic เพื่อปรับปรุงรูปแบบการนำส่งข้อมูลจากผู้ประกอบธุรกิจมายัง ก.ล.ต. ให้อยู่ในรูปแบบ electronic​

3.44 โครงการปรับเปลี่ยนวิธีการแจ้งหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลกรรมการและผู้บริหารของบริษัท เพื่อปรับปรุงรูปแบบการนำส่งข้อมูลจากผู้ประกอบธุรกิจมายัง ก.ล.ต. ให้อยู่ในรูปแบบ electronic รวมทั้งลดการกรอกข้อมูลในแบบฟอร์มให้น้อยลง โดยการเชื่อมโยงฐานข้อมูลจากภายนอก

3.45 โครงการปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลในหนังสือชี้ชวนของกองทุนรวม เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจและเป็นปัจจุบันยิ่งขึ้น รวมถึงไม่เป็นภาระเกินสมควรแก่ภาคธุรกิจ

3.46 โครงการปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับระบบงานการประกอบธุรกิจจัดการกองทุนรวม เพื่อให้มีความเหมาะสมกับการประกอบธุรกิจในปัจจุบัน

3.47 โครงการปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับการลงทุนในกองทุนรวมภายใต้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเดียวกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการกองทุนรวมและตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจ

3.48 โครงการประกาศเกี่ยวกับการขอใบอนุญาตหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นและรองรับการใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกและลดภาระให้แก่ภาคธุรกิจ

3.49 โครงการประกาศเกี่ยวกับการลดทุน เพื่อลดภาระผู้ประกอบธุรกิจในการทำความเข้าใจหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และอำนวยความสะดวกให้จัดส่งเอกสารผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้

3.50 โครงการปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดส่งรายงานการบริหารจัดการความเสี่ยงของสำนักหักบัญชี เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน มีความชัดเจนในการปฏิบัติ และเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลสำนักหักบัญชี

3.51 โครงการปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการในส่วนของการยื่นแบบรายงานและเอกสาร online (ลดได้มากกว่า 50%) เพื่อลดช่องทางการจัดส่งข้อมูลที่ไม่จำเป็นจาก 8 ช่องทาง เหลือ 3 ช่องทาง ลดภาระภาคเอกชนลง 62.5% และเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคแก่ภาคเอกชน     

3.52 โครงการปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับการโฆษณาและส่งเสริมการขาย เพื่อให้คำเตือนประกอบการโฆษณาสอดคล้องกับแต่ละช่องทางที่ผู้ประกอบธุรกิจใช้ในการโฆษณากองทุนรวมในปัจจุบันและตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจ

3.53 โครงการปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับการชำระบัญชีกองทุนรวม เพื่อให้มีความเหมาะสมตามสถานการณ์ของการเลิกกองทุน ไม่เป็นภาระแก่ผู้ประกอบธุรกิจจนเกินควร และคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นสำคัญ

3.54 โครงการทบทวนและปรับปรุงหลักเกณฑ์การออกและเสนอขายตราสารหนี้ทุกประเภทเพื่อลดความซับซ้อนและเกณฑ์ที่ไม่จำเป็น เพื่อให้กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตเสนอขายตราสารหนี้มีความชัดเจน ลดปัญหาในทางปฏิบัติ รวมถึงการบังคับใช้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ผู้ลงทุนยังคงได้รับความคุ้มครองที่เหมาะสม และไม่เป็นอุปสรรคจนเกินควรต่อผู้ประกอบการในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจและทบทวนประกาศที่เกี่ยวข้องกับการออกและเสนอขายตราสารหนี้ที่มีจำนวนมากให้เหลือเท่าที่จำเป็น

3.55 โครงการปรับปรุงประกาศที่เกี่ยวข้องกับการออกและเสนอขายตราสารหนี้ให้เหมาะสมกับสภาวะปัจจุบัน เพื่อทบทวนประกาศที่เกี่ยวข้องกับการออกและเสนอขายตราสารหนี้ให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติในปัจจุบัน และไม่ลักลั่นกันระหว่างประกาศ

3.56 โครงการปรับปรุงหลักเกณฑ์การประกอบกิจการอื่นของบริษัทหลักทรัพย์ (Repo) และระยะเวลารายงานเรื่องร้องเรียนของลูกค้าให้ ก.ล.ต. ปรับปรุงประกาศ 4 ฉบับ เพื่อให้สอดคล้องกับนิยามผู้ลงทุนสถาบันและพัฒนาระบบการรับรายงานเรื่องร้องเรียนทางอิเล็กทรอนิกส์​

3.57 การปรับปรุงประกาศการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ของบริษัทจดทะเบียน (PP-Listed Company) เพื่อลดกระบวนการขั้นตอนการอนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ โดยยังคงยึดหลักการคุ้มครองผู้ลงทุนที่ดี

3.58 โครงการปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับค่าธรรมเนียม เพื่อยกเว้นค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจ กรณีผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแจ้งขอหยุดประกอบกิจการ

3.59 โครงการปรับปรุงแบบรายงานข้อมูลการทำธุรกรรมซื้อขายหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินระหว่างกองทุนรวมและกองทุนอื่นภายใต้การจัดการเดียวกัน (แบบ cross trade) โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่ไม่จำเป็น ล้าสมัย เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน รวมถึงปรับปรุงรูปแบบให้ง่ายต่อการใช้งาน

3.60 โครงการปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับมาตรฐานการประกอบธุรกิจ และการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจ โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่ไม่จำเป็น ล้าสมัย เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน รวมถึงปรับปรุงรูปแบบให้ง่ายต่อการใช้งาน

3.61 โครงการปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์2

3.62 โครงการปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของบริษัทหลักทรัพย์2

3.63 โครงการปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับการขายหลักทรัพย์โดยที่ไม่มีหลักทรัพย์ในครอบครอง2

3.64 โครงการปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับเวลาทำการและวันหยุดทำการ2

3.65 โครงการปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ (TSFC) และเรื่องข้อจำกัดการโอนหลักทรัพย์2

3.66 โครงการปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับผู้สอบบัญชีและงบการเงิน2

3.67 โครงการปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับการเรียกและวางหลักประกันในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า2

3.68 โครงการปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับการดูแลทรัพย์สินของลูกค้า2

3.69 โครงการปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับนิยามหรือลักษณะการประกอบธุรกิจ2

3.70 โครงการปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่2

3.71 โครงการปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับแบบคำขอจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า2

3.72 โครงการปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจเป็นตัวแทนสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ผู้ค้าสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และที่ปรึกษาสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ประเภทจดทะเบียน2

3.73 โครงการปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับการให้คำแนะนำ2

3.74 โครงการปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับการตั้งตัวแทน2

3.75 โครงการปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับการให้บริการผ่านสาขาเฉพาะออนไลน์2

3.76 โครงการปรับปรุงปร​ะกาศเกี่ยวกับการลงทุนเพื่อเป็นทรัพย์สินของผู้ประกอบธุรกิจ2 

3.77 โครงการปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับสำนักงานสาขา/ สำนักงานผู้แทนต่างประเทศ โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่ไม่จำเป็น ล้าสมัย เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน รวมถึงปรับปรุงรูปแบบให้ง่ายต่อการใช้งาน

3.78 โครงการปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับการควบรวมของกองทุนรวม2

3.79 โครงการปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับการจัดเก็บเอกสาร การโฆษณาและส่งเสริมการขาย2

3.80 โครงการปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับการดำรงเงินกองทุนบริษัทหลักทรัพย์2

3.81 โครงการปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับการยื่นแบบรายงานของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า3​

           

-------------------------------------------------

​1 มาตรา 77 รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จําเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจําเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดํารงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดําเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง

ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนํามาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอนเมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กําหนดโดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป

รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการในกฎหมายเฉพาะกรณีที่จําเป็น พึงกําหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐและระยะเวลาในการดําเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน และพึงกําหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง

มาตรา 258 ให้ดําเนินการปฏิรูปประเทศอย่างน้อยในด้านต่าง ๆ ให้เกิดผล ดังต่อไปนี้

                                                ฯลฯ                                                         ฯลฯ

​ค. ด้านกฎหมาย

(1) มีกลไกให้ดําเนินการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับต่าง ๆ ที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ให้สอดคล้องกับหลักการตามมาตรา 77 และพัฒนาให้สอดคล้องกับหลักสากลโดยให้มีการใช้ระบบอนุญาตและระบบการดําเนินการโดยคณะกรรมการเพียงเท่าที่จําเป็นเพื่อให้การทํางานเกิดความคล่องตัว โดยมีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน และไม่สร้างภาระแก่ประชาชนเกินความจําเป็น เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ

                                                ฯลฯ                                                         ฯลฯ




2 สำนักงานได้ทบทวนประกาศที่เกี่ยวข้องและสอบถามความคิดเห็นจากภาคเอกชนแล้ว เห็นว่าประกาศในเรื่องดังกล่าวยังคงมีความเหมาะสมอยู่ จึงยังไม่มีการปรับปรุงแก้ไขในครั้งนี้​



3 สำนักงานย้ายโครงการดังกล่าว ไปดำเนินการภายใต้แผน Granular Data เพื่อประโยชน์ในการบูรณาการแนวทางการจัดการข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น




​​

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

​ฝ่ายกฎหมายองค์กรและคดีปกครอง

โทรศัพท์ 0 2033 9525